กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
เจบิกเลือกกสิกรไทย เป็นธนาคารไทยที่ให้บริการทางด้านการเงินรองรับนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ชี้เป็นธนาคารที่พร้อมในการให้บริการลูกค้าญี่ปุ่นดีที่สุด เตรียมจัดโครงการจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับลูกค้าธนาคารทั้งสองประเทศ
นายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือเจบิก (JBIC) ในการแต่งตั้งให้ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารไทยที่ให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจรแก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ เจบิกจะเป็นตัวกลางในการร่วมมือ โดยจะแนะนำธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่น ให้มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่นจะแนะนำผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มาใช้บริการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยที่ JBIC จะมีส่วนให้การสนับสนุนในลำดับต่อไป ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านบริการทางการเงินอย่างครบวงจร การให้ข้อมูลทั่วไป เรื่องการลงทุน เศรษฐกิจ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิทธิพิเศษด้านการลงทุนต่าง ๆ
ธนาคารกสิกรไทย ยังพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ลูกค้าญี่ปุ่นจากธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่นที่ทางเจบิกแนะนำมา ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย
สำหรับความร่วมมือระหว่างเจบิกกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ หน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD-BOI Unit for Industrial Linkage Development) ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้น ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง โดยเห็นว่าการที่เจบิกและธนาคารกสิกรไทยร่วมมือกันในครั้งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่นในเมืองไทยให้เพิ่มมากขึ้น และยังช่วย
สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตไปยังผู้ผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมสนับสนุนในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 ธนาคารฯ จะจัดงานโครงการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ (Global Business Matching) เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและญี่ปุ่น ได้เจรจาความร่วมมือทางการค้า การลงทุน ในงานนี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย และธนาคารพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งธนาคารจะเริ่มเปิดให้ผู้สนใจเข้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารจัดงาน Thai-Japan Business Matching 2010 ซึ่งมีผู้ประกอบการที่มีความต้องการซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 80 บริษัท ทำให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจมากกว่า 300 ราย
นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุด ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีฐานข้อมูลบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากกว่า 5,000 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารฯแล้วประมาณ 3,000 บริษัท โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารไทยในใจนักลงทุนญี่ปุ่น (The Most Preferred Thai Local Bank) และจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในไทยเป็น 18% ภายในปี 2555 รวมทั้งมีส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่นแล้ว 15 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะขยายความสัมพันธ์ออกไปให้ครอบคลุมทั้ง 47 จังหวัดในญี่ปุ่น
ด้านนายโนบุยูกิ ฮิกาชิ หัวหน้าแผนกการเงินภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค (JBIC) กล่าวว่า ปัจจุบัน รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นให้กระจายการลงทุนและจัดตั้งสำนักงานและโรงงานผลิตในประเทศในเอเชีย โดยมอบหมายให้ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เป็นผู้ประสานงานและผลักดันโครงการ ซึ่งประเทศไทย นับเป็นเป้าการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของนักลงทุนญี่ปุ่น ดังนั้นการมีธนาคารกสิกรไทยที่มีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินแก่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักนักลงทุนญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น