เร่งสร้างระบบคุ้มครองวัยใส...ก่อนสายเกิน

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2007 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สกว.
ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ควรมองข้ามเรื่องของเด็กและเยาวชน ซึ่งเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางที่ซับซ้อน รุนแรงมากขึ้น ทั้งสถานการณ์ปัญหาเดิมที่ยังคงซ้ำรอยอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงทั้งปัญหาสุขภาพอนามัย การขาดโอกาสทางการศึกษา การถูกละเลยทอดทิ้งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว และการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมหรืออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยง ล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงไม่ลดลง แต่กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับแสดงปรากฎการณ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ยากแก่การจัดการมากขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในสังคมไทย โดยการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน 11 โครงการ ในประเด็นต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มเด็กที่ถูกทอดทิ้งละเลย,เด็กที่ถูกละเมิดและได้รับความรุนแรงในครอบครัว,เด็กพิการทางร่างกายและสมอง,เด็กที่มีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ,กลุ่มแรงงานเด็กข้ามชาติ,กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ม้ง อาข่า, เด็กที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดและถูกส่งตัวเข้าในสถานพินิจฯ,เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีปัญหาสุขภาพจิต อาทิ มีภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น, กลุ่มเด็กที่เผชิญกับปัญหาหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงอื่น ๆ เช่น กลุ่มเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยมี รศ.อภิญญา เวชยชัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานโครงการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ พยาบาล นักกฎหมายและองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมทำการวิจัย
การศึกษาพบว่า การคุ้มครองเด็กที่เป็นอยู่ยังไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดภาวะรวมกันทำแต่ไร้ทิศทาง ยังไม่สามารถแสดงภาพรวมให้เห็นสถานการณ์เด็กในเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนนัก จึงควรมีการจัดทำฐานข้อมูลเด็ก จากระดับชุมชนพื้นที่สู่ระดับภาคและระดับชาติ การจัดทำฐานข้อมูลควรมีการจำแนกประเภทระหว่างเด็กทั่วไป เด็กประสบปัญหา(หลายกลุ่ม) เด็กที่เผชิญภาวะเสี่ยง และเด็กที่เผชิญปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเก็บข้อมูลควรเป็นกระบวนการในการร่วมคิด กำหนด ทำ ประเมินสภาพและตีความตามลำดับความสำคัญของปัญหาร่วมกัน ฐานข้อมูลเด็กควรประกอบด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์และเชิงคุณภาพ
ผลการศึกษาการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในสังคมไทย เสนอ 4 ยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชนกลุ่มต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก 2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้าง ระบบและกลไกองค์กรของเด็กยากจนในระบบ 3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้าง ระบบและกลไกองค์กรของเด็กยากจนนอกระบบ 4) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กเสี่ยงที่ประสบปัญหา/วิกฤติทางสังคม
ทั้งนี้ การคุ้มครองเด็กควรทำทั้งในระดับบนที่ กว้าง และครอบคลุมภาพรวม ในเชิงโครงสร้างที่กำหนดนโยบาย ในระดับกลางคือการเกิดขึ้นในฐานองค์กร/หน่วยงาน กำหนดกลไกการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อเป็นหลักประกันว่าสังคมไทยมียุทธศาสตร์คุ้มครองเด็กที่ครอบคลุม มีระบบ และมาตรฐาน ขณะที่ในระดับฐานรากเป็นการกำหนดการคุ้มครองเด็กในเชิงพื้นที่ชุมชน ซึ่งต้องการความหลากหลาย ยืดหยุ่น และการกำหนดเป้าหมายในการจัดระบบคุ้มครองเด็กที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และฐานทรัพยากร โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ต้องการการออกแบบพิเศษที่สอดคล้องกับปัญหาและทรัพยากรที่มีอยู่ เน้นการประสานทำงานร่วมกันในลักษณะภาคีร่วมมากกว่าต่างคนต่างทำซึ่งผลสุดท้ายเด็กอาจตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งได้โดยไม่เจตนา
ตัวอย่าง เช่น แนวทางการช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจัดเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ประสบปัญหา/วิกฤตทางสังคม ควรมีการจัดการทุนการศึกษาอย่างระยะยาว และ ต่อเนื่อง ครอบคลุม ทั่วถึง แก่เด็กในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทั้งเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองและเด็กที่ต้องย้ายถิ่นฐานจากที่อยู่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ การจัดระบบสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น การจัดกิจกรรมเสริมเพื่อเพิ่มทักษะสังคมด้านต่าง ๆ เช่น กิจกรรมกีฬา ดนตรี ดิเกร์ฮูลู (วัฒนธรรมของ 3 จังหวัดภาคใต้) การจัดรายการวิทยุชุมชน ฯลฯ อันเป็นการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และทำให้สามารถประเมินศักยภาพของเด็กเพื่อหาทางเลือกใหม่ ๆ ของชีวิตมากขึ้น
ขณะเดียวกันควรเสริมสร้างกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ ครู ผู้นำชุมชน ส่งเสริมและจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยให้ง่าย รูปแบบสนุกสนาน สามารถฝึกให้นำไปใช้ได้จริงในชีวิตการเรียนและการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม/เวทีแลกเปลี่ยนเสนอแนะในเรื่องการเฝ้าระวัง เพื่อปกป้องคุ้มครองกันและกันให้ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะและความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาที่ดี การสร้างระบบส่งต่อด้านการศึกษาให้เด็กมีโอกาสเรียนในระดับสูง โดยการทำงานร่วมกันของครู พ่อแม่ ชุมชน และองค์กรที่ทำงานกับเด็กทางด้านการศึกษา เพื่อเป็นการปูทางให้เกิดความเข้าใจและมีข้อมูลที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น เป็นต้น .

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ