กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เวทีสื่อภาคเหนือล่างเพิ่มความเข้มของเนื้อหาสื่อชุมชน มุ่งนำเสนอประเด็นที่มีผลกระทบต่อชุมชนและเน้นการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชน
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ ชั้น 8 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จากการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนสื่อชุมชน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุตรดิถต์ นอกเหนือจากการอบรมทักษะการเขียนข่าวเบื้องต้น เทคนิคการตัดต่อภาพ ถ่ายภาพ แล้ว
ในเวทีประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะการปรับปรุงเนื้อหาของสื่อชุมชนให้หลากหลาย ทั้งการรายงานข่าว การให้สาระความรู้ ความบันเทิง และควรมีการเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาที่เป็นผลกระทบต่อชุมชนทางด้านต่าง ๆ ผศ.ณัฐรดา วงษ์นายะ กล่าวว่า “สื่อชุมชนหลายแห่ง จะนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการรายงานข่าวหรือ เหตุการณ์ในชุมชน เช่นข่าวประชาสัมพันธ์งาน/กิจกรรมของชุมชน หากมีการเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาที่เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาชุมชน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากสื่อชุมชนมากขึ้น และอาจทำให้คนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของระบบสื่อสารชุมชนที่มีอยู่
ขณะเดียวกันในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การสร้างจิตสำนึกในการทำสื่อชุมชน ซึ่งที่ประชุมได้แสดงทัศนะของการนำเสนอข่าวสื่อชุมชนมีเนื้อหาที่แตกต่างจากสื่อมวลชนกระแสหลัก เพราะเนื้อหาจะเป็นเรื่องราว เหตุการณ์ของชุมชนจริง ๆ ส่วนใหญ่เป็นข่าว เหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปภายในชุมชน ส่วนความคิดเห็นในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อกระแสหลักนั้นปัจจุบันมีการนำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรงทางสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นเพราะข่าวอยู่ในความสนใจหรือเป็นข่าวที่สร้างยอดขายหรือคนดูได้มาก ซึ่งภาพบางภาพหรือข้อความข่าวบางข้อความรุนแรงและทารุณ เกินไปไม่ควรนำเสนอทางสื่อ สื่อควรมีมาตรการตรวจสอบกันเองว่า มีความเหมาะสมเพียงใดในการนำเสนอภาพความรุนแรงกับผู้ชมหรือผู้อ่าน ด้านนายมนตรี อิ่มเอก...ได้แสดงความคิดเห็นว่า กรณีข่าวการกระทำผิดของพระสงฆ์ มีการผลิตซ้ำในเนื้อหาเดิม ๆ อย่างต่อเนื่อง จากสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ มีการขุดคุ้ยและเจาะลึกเพิ่มเติมในอีกหลายครั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์หลายรายการ ซึ่งข่าวเรื่องของพระสงฆ์ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอ่
อนไหวมากในความรู้สึกของสังคมไทย ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า สื่อกระแสหลัก“ต้องการจะสื่ออะไร….? ” .. และ.สังคม...จะได้อะไร....จากการบริโภคข่าวในลักษณะนี้