สภาที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ จัดระดมความเห็น เตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2011 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น 4 ภูมิภาค เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเชิญผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 14 จังหวัด ภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 250 คน ร่วมสัมมนา ภายหลังจากที่นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับแล้ว นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ควบคู่ไปกับให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเสนอแนวทางในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม และสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยในการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประชาคมอาเซียน” โดยกล่าวว่า การดำเนินงานของกลุ่มอาเซียนในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะยังมีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าเป็นฝ่ายรุก กอปรกับสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่นบทบาทของสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนจีน อินเดีย รัสเซีย และการขยายตัวของกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้เกิดการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความรุนแรงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มสมาชิกในอาเซียนก็มีการขยายจำนวนสมาชิกและขอบเขตความร่วมมือในแต่ละสาขาและมีรายละเอียดมากขึ้นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจนนำไปสู่ความร่วมมือในอาเซียน จนนำมาสู่การลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมกันอาเซียนฉบับที่ 2 เพื่อประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 และการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน ในการวางกรอบและกฎหมาย โครงสร้างองค์กรของสมาคม และเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อรับรองการเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน ที่จะต้องยึดถือตามพันธะข้อตกลงดังกล่าว ประชาคมอาเซียนประกอบไปด้วย 3 เสาหลักคือ 1.ด้านการเมืองและความมั่นคง 2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม 3.ด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน เช่น ภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย หรือการทำให้สมาชิกในอาเซียนมีความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดี ปลอดภัย ค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้นภายใต้การธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และคลายข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างสันติ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมในเกือบทุกมิติ อีกทั้งประเทศไทยยังมีผลผูกพันให้เปิดเสรีในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการดำเนินการความร่วมมือในด้านเกษตร อาหาร ป่าไม้ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการและการทำงานจากทุกภาคส่วนร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา องค์กรเครือข่าย ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม นักวิชาการ สภาที่ปรึกษาฯ รวมทั้งสื่อมวลชน เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ภายใต้การน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 30 ปี จากนั้น นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวขอบคุณ และเข้าสู่การบรรยายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะมีผลในปี พ.ศ.2558 เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อคณะรัฐมนตรี โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ และการแบ่งกลุ่มย่อยในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมนำเสนอความเห็นกลุ่มย่อยในวันที่ 31 พ.ค.54

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ