FED มีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.25

ข่าวทั่วไป Tuesday May 8, 2007 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ธนาคารทหารไทย
การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ ในวันที่ 9 พ.ค.50 ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย คาดว่า FED จะยังคงมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ที่เดิมในอัตราร้อยละ 5.25 และจะเป็นการตรึงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่ FED ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 5.25 ไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.49
ปัจจัยที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.25 ได้แก่
1.อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน : อยู่ในระดับสูงเกินจากเป้าหมาย
ในการพิจารณาเกี่ยวกับทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงเน้นความสำคัญในประเด็นเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ โดยได้มีการย้ำถึงการให้ความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อมากกว่าอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ จากรายงานการประชุมของ FED ครั้งที่ผ่านมาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.50 ซึ่งระบุถึงความวิตกต่อภาวะเงินเฟ้อและการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงว่ายังเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากทางการสหรัฐฯ จะให้ความสนใจต่อการสกัดกั้นเงินเฟ้อแล้ว การที่ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ในเดือน เม.ย.50 เพิ่มสูงขึ้นจากระดับเฉลี่ย 60.44 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ของเดือน มี.ค.50 มาอยู่ที่ระดับ 63.99 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล อาจจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต
สำหรับดัชนีวัดภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Consumer Price Index) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) โดยในเดือน มี.ค.50 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 2.4 ของเดือน ก.พ.50 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค.50 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 ของเดือน ก.พ.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ที่ระดับนี้ยังคงสูงเกินกว่า Comfort Zone ซึ่งกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 1.0-2.0 สะท้อนว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่
อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure Index) เดือน มี.ค.50 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ของเดือน ก.พ.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่ Core PCE Index ชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 2.4 ของเดือน ก.พ.50 แต่ยังสูงกว่าระดับ Comfort Zone ที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน
อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก GDP Deflator ซึ่งเป็นการวัดอัตราเงินเฟ้อรายไตรมาส เพื่อใช้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีฐานมากน้อยเท่าใด ในไตรมาสแรกของปี 2550 มีรายงานว่า GDP Deflator ปรับตัวในระดับที่สูงที่สุดในรอบระยะเวลา 16 ปีที่ร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 ของไตรมาส 4 ปี 2549 บ่งชี้ว่า ระดับราคาสินค้าในไตรมาส 1 ของปี 2550 อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาปีฐาน (ปี 2543) ถึง 4 เท่าตัว
2.ภาวะการผลิตและบริการ : ปรับตัวดีขึ้น
ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.50 กลับมาขยายตัวเพิ่มมากขึ้นที่ระดับ 54.7 จากระดับ 50.9 ของเดือน มี.ค.50 สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 51.0 และเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดในรอบระยะเวลาเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค.49 โดยดัชนีที่เป็นส่วนประกอบทางด้านคำสั่งซื้อใหม่และส่วนประกอบในด้านระดับราคา เดือน เม.ย.50 ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบระยะเวลา 14 และ 8 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 58.5 และ 73.0 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีส่วนประกอบในด้านสินค้าคงเหลือปรับตัวลดลงจากระดับ 47.5 ของเดือน มี.ค.50 มาอยู่ที่ระดับ 46.3 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่ายอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน เดือน มี.ค.50 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.1 สูงที่สุดในรอบระยะเวลา 1 ปี และมากกว่าระดับคาดการณ์ร้อยละ 2.1 ประกอบกับดัชนี ISM-ภาคบริการ เดือน เม.ย.50 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 56.0 จากระดับ 52.4 ของเดือน มี.ค.50 บ่งชี้ว่า ภาวะการผลิตและบริการปรับตัวดีขึ้น
3. อัตราค่าจ้างและการจ้างงาน : อยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค.50 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นในภาคก่อสร้าง ค้าปลีก และธุรกิจด้านการดูแลรักษาสุขภาพ เทียบกับระดับ 130,000 ตำแหน่งของเดือน ก.พ.50 และอัตราการว่างงาน เดือน มี.ค.50 ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ 4.4
4.การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน : ยังคงขยายตัวได้
ในไตรมาสแรกของปี 2550 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.1 (y-o-y) ชะลอลงจากร้อยละ 3.1 ของไตรมาส 4 ของปี 2549 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้มาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน โดยจากรายงานล่าสุดในเดือน มี.ค.50 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.1 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยของทั้งปี 2549 ที่ร้อยละ 3.2 ประกอบกับตัวเลขยอดค้าปลีก เดือน มี.ค.50 ขยายตัวร้อยละ 3.8 (y-o-y) จากร้อยละ 3.5 ของเดือน ก.พ.50 ทำให้ความวิตกว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวอย่างรุนแรงได้ผ่อนคลายลง
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมวันที่ 9 พ.ค.50 ต่อไป เนื่องจากแรงกดดันด้านราคายังไม่หมดไป ในขณะเดียวกันเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคบริการ ยังปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการอุปโภคบริโภคที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ชะลอตัวอย่างรุนแรงในภาวะที่ตลาดที่อยู่อาศัย ซบเซา และมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในตลาด Subprime นอกจากนี้ การตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยังเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ในปี 2549 ที่ยังคงสูงถึง 856.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้สหรัฐฯ ต้องการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ