กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--PRdd
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้รับการประกาศให้อันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ “M2+(tha) แสดงถึงการที่บริษัทมีความเสี่ยงต่ำต่อความล้มเหลวในการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน เมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นในประเทศไทย ทั้งนี้อันดับบริษัทจัดการกองทุนครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนโดยบลจ.ไทยพาณิชย์
“การได้รับจัดอันดับบริษัทจัดการกองทุนของฟิทช์เป็นบริษัทแรกเป็นเรื่องน่ายินดีมาก โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ในด้านบริษัทและบุคลากร การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง การบริหารจัดการลงทุน การบริหารจัดการปฏิบัติการการลงทุนและประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี” นางโชติกา กล่าว
ทั้งนี้จากการประกาศของฟิทช์ สำหรับอันดับบริษัทจัดการกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศ รวมถึงการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบลจ.ไทยพาณิชย์ ส่วนใหญ่ถูกขายผ่านช่องทางของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้บริษัทมีผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรทางด้านการจัดการลงทุนที่มีประสบการณ์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในด้านการปฎิบัติการงานจากการจัดกลุ่มใหม่ของสายงานจัดการลงทุน
ส่วนการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงของบริษัท อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหารความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องแล้ว ยังให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติงานโดยการใช้เครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง
ในขณะที่กระบวนการจัดการการลงทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มุ่งเน้นการวิเคราะห์บนปัจจัยพื้นฐาน โดยผสมผสานระหว่างวิธีการวิเคราะห์แบบ top down และ bottom up ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระบวนการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ค่อนข้างคงที่ ส่วนตราสารทุนมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าฝ่ายจัดการลงทุนตราสารทุนอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเพิ่มงานส่วนฝ่ายวิเคราะห์ให้ครอบคลุมการวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น และการจัดตั้งแผนก asset allocation ขึ้นใหม่ในปี 2552 ทำให้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในกลุ่มการจัดการการลงทุนชัดเจนขึ้น ซึ่งมีผลงานที่ค่อนข้างดีตั้งแต่จัดตั้งขึ้นมา
นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ ยังมีพื้นฐานมาจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของระบบทั้งในส่วนของ front middle และ back office รวมทั้งการที่มีการติดต่อสื่อสารและให้ข้อมูลแก่ลูกค้าที่สม่ำเสมอและรวดเร็ว ตลอดจนการสะท้อนถึงคุณภาพทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการโอนสายงานด้าน IT ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ คุณภาพของระบบ IT ในส่วนของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน บัญชีกองทุนและการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน รวมทั้งความสามารถของระบบในการรองรับสินทรัพย์ที่มีลักษณะซับซ้อนได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบในส่วนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปี 2554 ซึ่งบลจ.ไทยพาณิชย์ มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการวิเคราะห์พอร์ตโฟลิโอการลงทุน กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ การกำกับดูแลและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในการลงทุนในปี 2555