กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
อินเทลเปิดเผยในงานคอมพิวเท็กซ์ถึงแผนล่าสุดของชิปตระกูล อินเทล?คอร์? และ อินเทล?อะตอม? โปรเซสเซอร์ ที่จะเข้ามารองรับโน้ตบุ๊กรุ่นและอุปกรณ์มือถือรุ่นใหม่ๆ
ประเด็นข่าว
อินเทลแยกกลุ่มใหม่สำหรับอุปกรณ์โมบายล์คอมพิวเตอร์ แบบบางเฉียบและน้ำหนักเบา รุ่นยอดนิยมล่าสุด โดยใช้ชื่อว่า Ultrabook?
อินเทลตั้งเป้าให้ผู้บริโภคที่ใช้แล็ปท้อปรุ่นทั่วไปร้อยละ 40 หันมาใช้ Ultrabook? ภายในปลายปี 2555
อินเทลเร่งพัฒนาในการนำ อะตอม? โปรเซสเซอร์ มาเป็นเทคโนโลยีสำหรับการผลิตอุปกรณ์ใหม่ทุกปี เพื่อสร้างโซลูชั่นพิเศษที่หลากหลายรองรับตลาดกลุ่มต่างๆ
อินเทลเน้นแพลต์ฟอร์มรุ่นใหม่สำหรับเน็ตบุ๊กโดยไม่ต้องใช้พัดลมระบายความร้อน และใช้ชื่อรหัสว่า “ซีดาร์เทรล” สำหรับแท็บเบล็ตที่ใช้อะตอม โปรเซสเซอร์ รุ่นปัจจุบัน พร้อมเปิดตัวชิป “เมดฟิลด์” สำหรับแท็บเบล็ตที่บางเพียง 9 มม. เบาไม่ถึง 1.5 ปอนด์ และใช้กับระบบปฏิบัติการได้หลายชนิด
ฌอน มาโลนี่ รองประธานบริหาร อินเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวในงานคอมพิวเท็กซ์ โดยระบุว่า ภายในสิ้นปี 2555 ผู้ใช้แล็ปท้อปในตลาดเดิมร้อยละ 40 จะเปลี่ยนมาใช้ “Ultrabook?” คอมพิวเตอร์สายพันธุ์ใหม่ที่ไร้จุดอ่อน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ที่สุดของประสิทธิภาพ ความเร็วในการตอบสนอง และระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม ด้วยดีไซน์หรูและ บางเฉียบ
ในระหว่างการบรรยายเปิดงานคอมพิวเท็กซ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนิทรรศการเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก มาโลนี่กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพื่อปรับแผนปฏิบัติการของ อินเทล?คอร์?โปรเซสเซอร์ สำหรับแล็ปท้อปกลุ่มใหม่ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนั้นเขายังได้ย้ำถึงความพยายามของอินเทลในการผลักดันแนวทางการขยายตลาดสำหรับ อินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ แบบซิสเต็มออนชิป (System on a chip หรือ SOC) สำหรับเน็ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน แท็บเบล็ต และอุปกรณ์สำหรับการเดินทางอื่นๆ อีกด้วย
มาโลนี่กล่าวว่า “ระบบการประมวลผลเริ่มแปรสภาพไปอยู่ในอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบ ส่วนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก็คือตัวเร่งปฏิกิริยา และเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่อินเทลกำลังจะทำกับแผนปฏิบัติการบวกกับความร่วมมือที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรม จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน”
Ultrabook?
วิสัยทัศน์ของอินเทลคือการส่งเสริมรูปแบบการใช้งานแนวใหม่ผ่านการพัฒนาอุปกรณ์โมบายล์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่มากขึ้น คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่นี้จะผสานประสิทธิภาพและสมรรถนะที่ได้จากแล็ปท้อปในปัจจุบัน เข้ากับคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของแท็บเบล็ต ที่ทำให้ตอบสนองได้เร็ว มีระบบความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง ภายใต้ดีไซน์การออกแบบที่บางเฉียบ น้ำหนักเบา และหรูหรากว่าเดิม Ultrabook? จะเข้ามาเป็นตัวกำหนดทิศทางใหม่ให้กฎของมัวร์และเทคโนโลยีซิลิกอน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ เดสก์ท้อปคอมพิวเตอร์รุ่นเริ่มต้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
มาโลนี่อธิบายว่าแผนการของอินเทลที่จะทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริงได้นั้น แบ่งออกเป็นสามระยะ ด้วยกัน โดยแผนในระยะแรกจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ด้วย อินเทล? คอร์? โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ซึ่งเข้ามารองรับผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มแล็ปท้อปที่มีดีไซน์สวยงาม เบา และบางเพียง 20 มม. (0.8 นิ้ว) ด้วยราคาที่ตลาดยอมรับได้ คือ ไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ชิปเหล่านี้จะเริ่มจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งรวมถึง Ultrabook? UX21 ของเอซุส*ด้วย ทั้งนี้ จอห์นนี ชีห์ ประธานของเอซุสได้ขึ้นบรรยายบนเวทีร่วมกับมาโลนี่ด้วย และได้นำเอาแล็ปท้อปรุ่นบางเฉียบซึ่งใช้ อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอร์เรชั่นสอง รุ่นล่าสุดมาแสดงด้วย
ชีห์กล่าวว่า “เอซุสมีวิสัยทัศน์ในเรื่อง Ultrabook? ที่สองคล้องกับอินเทล ลูกค้าของเราต้องการรูปแบบการประมวลผลที่ไร้จุดอ่อน ภายใต้การออกแบบเครื่องที่พกพาสะดวก น้ำหนักเบา และตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว การแปลงสภาพพีซีให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่บางเป็นพิเศษและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วขึ้นจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งานสำหรับพีซีของผู้คนอย่างแน่นอน”
นอกจากกล่าวถึงเทคโนโลยี อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 2 แล้ว มาโลนี่ยังได้เปิดเผยถึงอินเทล โปรเซสเซอร์ ตระกูลถัดไปที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ไอวี่บริดจ์” (Ivy Bridge) ซึ่งมีกำหนดจะนำใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 แล็ปท้อปที่ใช้ชิป “ไอวี่บริดจ์” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากขึ้น เปิดประสบการณ์ในการรับชมภาพได้อย่างฉลาดล้ำ พร้อมด้วยเร่งอัตราการตอบสนองที่รวดเร็ว และระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่าเดิม “ไอวี่บริดจ์” จะเป็นชิปรุ่นแรกของระบบการผลิตด้วยเทคโนโลยีขนาด 22 นาโนเมตรที่จะใช้ทรานซิสเตอร์ Tri-Gate 3 มิติ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนั้น มาโลนี่ยังได้กล่าวถึงเทคโนโลยีเสริม เช่น USB 3.0 และ Thunderbolt? ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องของอินเทล เพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มสำหรับพีซีก้าวหน้าต่อไป
ถัดจาก “ไอวี่บริดจ์” อินเทลยังมีผลิตภัณฑ์ที่ได้วางแผนเอาไว้สำหรับปี 2556 ซึ่งมีชื่อรหัสว่า “แฮสเวล” (Haswell) ซึ่งถือเป็นแผนระยะที่สามของการพัฒนา Ultrabook? โดยเปลี่ยนโครงสร้าง ให้แล็ปท้อปมีดีไซน์ที่บางเฉียบ น้ำหนักเบา ที่ตอบสนองการทำงานได้รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น “แฮสเวล” จะช่วยให้อินเทลปรับปรุงระบบพลังงานของโมไบล์โปรเซสเซอร์ให้ดีขึ้น โดยจะใช้พลังงานเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นเมื่อเทียบกับดีไซน์ในปัจจุบัน
เร่งแผนพัฒนาสำหรับ อินเทล? อะตอม? โปรเซสเซอร์
มาโลนี่ยังได้พูดถึงช่วงเวลาสำคัญและรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับแพลต์ฟอร์มของอินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ รุ่นถัดไปสำหรับแท็บเบล็ต เน็ตบุ๊ก และสมาร์ทโฟน โดย อะตอม โปรเซสเซอร์ จะแซงหน้ากฎของมัวร์ได้สำเร็จ ด้วยการเร่งความเร็วของเทคโนโลยีสำหรับการผลิตจาก 32 นาโนเมตร เป็น 22 นาโนเมตร และ 14 นาโนเมตร ได้ภายในเวลา 3 ปีติดต่อกัน การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ทุกปี จะทำให้อัตราการรั่วไหลของกระแสไฟในทรานซิสเตอร์ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานขณะทำงาน และยังเพิ่มความจุของจำนวนทรานซิสเตอร์ได้เพื่อพัฒนาสมาร์ทโฟน แท็บเบล็ตและเน็ตบุ๊กให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีอายุการใช้แบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่าเดิม
หลังจากที่สามารถพิชิตยอดจำหน่ายเน็ตบุ๊กได้ครบ100 ล้านเครื่องได้สำเร็จไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อินเทลได้เริ่มเตรียมแพลต์ฟอร์มสำหรับเน็ตบุ๊กรุ่นต่อไป โดยใช้ชื่อรหัสว่า “ซีดาร์เทรล” ซึ่งเป็นแพลต์ฟอร์มสำหรับเน็ตบุ๊กรุ่นแรกของอินเทลที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 นาโนเมตรของอินเทล ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับอุปกรณ์ที่มีขนาดบางเฉียบ ไม่ต้องใช้พัดลมระบายความร้อน และมาพร้อมกับคุณสมบัติพิเศษ Intel? Rapid Start Technology ที่ช่วยให้กลับคืนสู่สภาพพร้อมใช้งานได้เร็วกว่าเดิม เมื่อผสานกับ Intel? Smart Connect Technology ที่ช่วยในการรับข้อมูลที่สามารถอัพเดตเสมอในช่วง สแตนบายด์ ในขณะที่เทคโนโลยี Intel? Wireless Display และ PC Synch จะช่วยให้ผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย และอัพเดตข้อมูล คอนเท้นท์ และมีเดีย ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้พร้อมกัน นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าแพล์ตฟอร์มรุ่นใหม่สามารถยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้นานกว่า 10 ชั่วโมง และปรับให้อยู่ในโหมดสแตนบายด์ได้ติดต่อกันได้หลายสัปดาห์อีกด้วย “ซีดาร์เทรล” (Cedar Trail) จะสามารถใช้ได้กับระบบปฏิบัติการชั้นนำหลากหลายชนิด อาทิ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์* (Microsoft Windows) วินโดวส์ กูเกิ้ลโครม* (Google Chrome) และ มีโก้* (Meego) เป็นต้น
นอกจากนั้นมาโลนี่ยังได้นำเอาแท็บเบล็ตกว่า 10 รุ่นที่รองรับระบบปฏิบัติการสามแบบที่มี วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันโดยใช้ อินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ Z670 มาแสดงอีกด้วย โดยแพลต์ฟอร์มรุ่นนี้ได้ถูกนำไปใช้กับแท็บเบล็ตกว่า 35 ดีไซน์แล้ว นับตั้งแต่มีการเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่น แบบconvertibles, sliders และดีไซน์ที่ล้ำสมัยอื่นๆ ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน รวมถึงดีไซน์ที่จะมีทยอยออกมาในช่วงหลังของปีนี้ด้วย
มาโลนี่ยังได้กล่าวถึง “เมดฟิลด์” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโลยีการผลิตแบบ 32 นาโนเมตรรุ่นแรกของอินเทลที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสมาร์ทโฟนและแท็บเบล็ตโดยเฉพาะ “เมดฟิลด์” (Medfield) ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสำหรับการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความคมชัดเวลารับชมมีเดีย เล่นเกมส์ และรับชมภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงประสิทธิภาพสำหรับแท็บเบล็ต อินเทลได้จัดให้มีการนำชิป “เมดฟิลด์” มาทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการกูเกิล แอนดรอยด์ 3.0 (“Honeycomb) มาสาธิตเป็นครั้งแรก ชิปเมดฟิลด์จะเริ่มเข้าสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายภายในปลายปีนี้ แพลต์ฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามารองรับแท็บเบ็ลตดีไซน์ที่มีความหนาเพียง 9 มม. และมีน้ำหนักน้อยกว่า 1.5 ปอนด์ โดยจะเริ่มจำหน่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 และชิปรุ่นนี้ยังรองรับระบบปฏิบัติการได้หลากชนิด รวมทั้งแอนดรอยด์และมีโก้ด้วย
มาโลนี่กล่าวว่า “แผนการทำงานที่อินเทลกำลังดำเนินการสำหรับอินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ เมื่อผสานกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นกับ อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ จะทำให้อินเทลมีศักยภาพมากขึ้นในการจัดสรรโซลูชั่นฮาร์ดแวร์แบบครบวงจร ที่สามารถนำไปใช้กับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์หลากชนิดได้ ตั้งแต่แบ็คเอ็นด์เซิร์ฟเวอร์ที่รองรับการทำงานของระบบคลาวด์ ไปจนถึงอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายพันล้านเครื่องที่ใช้เพื่อการเข้าถึงระบบคลาวด์ด้วย”
ระบบคลาวด์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
มาโลนี่กล่าวว่า การที่ผู้คนและอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะนำไปสู่การขยายตัวของบริการต่างที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ เพื่อใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูล มีการปรับข้อมูลให้สอดคล้องกัน และสร้างความบันเทิงได้มากขึ้นตามไปด้วย และอินเทลเองก็มีศักยภาพที่จะเติบโตไปพร้อมกับระบบคลาวด์ โดยกล่าวเสริมว่าคลาวด์จำเป็นต้องใช้อินเทลเซิร์ฟเวอร์เครื่องใหม่หนึ่งเครื่องต่อสมาร์ทโฟนใหม่ทุกๆ 600 เครื่อง หรือ แท็บเบล็ตใหม่ทุกๆ 122 เครื่อง ที่ต้องการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เขายังได้ย้ำถึงวิสัยทัศน์ “Cloud 2015” ของอินเทลที่ต้องการเห็นระบบคลาวด์ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัยผ่านระบบคลาวด์ส่วนตัวและสาธารณะ นอกจากนี้ระบบเครือข่าย “อัตโนมัติ” ที่ช่วยจัดสรรปริมาณงานในเซิร์ฟเวอร์ของศูนย์ข้อมูลให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และประหยัดพลังงาน และสามารถ “แยกแยะอุปกรณ์” ได้ด้วย เพื่อให้รู้ว่ามีแอพพลิเคชั่นไหนที่อยู่ระหว่างการทำงานและประมวลผล
มาโลนี่กล่าวทิ้งท้ายโดยเน้นถึงความสำคัญของบทบาทความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไอทีของไต้หวันในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบประมวลผลนี้ โดยได้เรียกร้องให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ระบบประมวลผลยุคใหม่ผ่านอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายและหาซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม “อุตสาหกรรมไอทีของไต้หวันจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้” มาโลนี่สรุป
ถ้าหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแถลงข่าวในวันนี้ให้เข้าไปดูได้ที่ www.intel.com/newsroom/computex/index.htm
ติดต่อ:
สุภารัตน์ โพธิวิจิตร อรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 648-6022 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: suparat.photivichit@intel.com e-Mail: orawan@carlbyoir.com.hk