กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เผยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฐานข้อมูลการแพร่กระจายและพฤติกรรมของวาฬบรูด้าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบดีตั้งชื่อ “แม่ข้าวเหนียว” และ “เจ้าส้มตำ” ปลาวาฬคู่แม่-ลูก ที่มีตำหนิชัดเจนที่ครีบหลัง ซึ่งสำรวจพบบริเวณท้องทะเลนอกชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร
“เจ้าส้มตำ” อยู่ด้านหน้าของรูป ว่ายน้ำเคียงข้างแม่เสมอ
ลักษณะครีบหลังของเจ้าส้มตำมีตำหนิเห็นชัดเจน
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้สำรวจปลาวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน ครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 และได้จำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าโดยใช้ภาพถ่ายตำหนิบนครีบหลัง (Photo Identification) เพราะเวลาขึ้นมาหายใจปลาวาฬทุกตัวจะต้องโชว์ส่วนของครีบหลัง นอกจากนี้ยังใช้ตำหนิ หรือรอยแผลในส่วนอื่นๆ เช่น ตามลำตัว ปาก มาประกอบการพิสูจน์อัตลักษณ์ของปลาวาฬแต่ละตัวอีกด้วย โดยการสำรวจปลาวาฬบรูด้าในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2554 สามารถจำแนกปลาวาฬที่มีตำหนิแตกต่างกันได้ทั้งหมดจำนวน 15 ตัว ในจำนวนนี้เป็นแม่พร้อมลูกวัยอ่อนที่มีขนาดความยาวเพียง 4-6 เมตร จำนวน 3 คู่ ปกติปลาวาฬบรูด้าตัวเต็มวัยจะมีความยาวสูงสุด 15.5 เมตร ลูกหย่านมเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน คาดว่าอายุปลาวาฬชนิดนี้มีอายุยืน 50 ปี
“กล่าวได้ว่าบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีแหล่งอาหารของปลาวาฬบรูด้าที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นบริเวณที่ปลาวาฬเข้ามาผสมพันธุ์ คลอดลูกและเลี้ยงดูลูกอ่อน ในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีข้อมูลการแพร่กระจายและพฤติกรรมของปลาวาฬบรูด้าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อธิบดี ทช.กล่าว
ทั้งนี้ ดร.เกษมสันต์ ได้ตั้งชื่อลูกปลาวาฬน้อยตัวหนึ่งว่า “เจ้าส้มตำ” เจ้าส้มตำถูกสำรวจพบพร้อม “แม่ข้าวเหนียว” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ที่บริเวณทะเลนอกชายฝั่งวัดกระซ้าขาว จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าส้มตำมีความยาวลำตัวประมาณ 6 เมตร ส่วนแม่ข้าวเหนียวมีความยาวลำตัวประมาณ 12 เมตร ไม่พบตำหนิใดๆ บนครีบหลังของแม่ข้าวเหนียว ส่วนเจ้าส้มตำนั้นมีรอยตำหนิขนาดเล็กที่สามารถสังเกตได้ชัดที่บริเวณครีบหลัง ซึ่งศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนบน จะได้ดำเนินการศึกษาติดตามการเจริญเติบโตและการเคลื่อนย้ายของแม่ข้าวเหนียวและเจ้าส้มตำต่อไป