เผย.. คนทำงานด้านรังสีในอุตสาหกรรมเสี่ยงเกิดมะเร็ง!!

ข่าวทั่วไป Thursday June 2, 2011 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการประเมินความเสี่ยง การเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านรังสีในประเทศไทยในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549 - 2553 โดยวิเคราะห์จากอุปกรณ์วัดรังสีประจำบุคคลที่ให้บริการแก่บุคลากร ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรังสีทั่วประเทศ พบว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านรังสีในอุตสาหกรรมการทดสอบโดยไม่ทำลายโดยการถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจสอบรอยเชื่อมของถังเหล็กหรือ หอกลั่นของโรงงานอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง 12 คนต่อบุคลากรแสนคน ชี้สาเหตุเกิดจากทำงานใกล้ชิดต้นกำเนิดรังสี ระบบการป้องกันรังสีไม่เหมาะสมและขาดความรู้พื้นฐานในเรื่องการป้องกัน อันตรายจากรังสี นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ทำการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านรังสีในประเทศไทยในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 — 2553 โดยวิเคราะห์จากอุปกรณ์วัดรังสีประจำบุคคลที่ให้บริการ แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรังสีทั่วประเทศ พบว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงาน ในด้านอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขาดความรู้พื้นฐานในเรื่องการป้องกันอันตรายจากรังสีเบื้องต้น ซึ่งแตกต่าง จากบุคลากรในกลุ่มทางการแพทย์หรือนักวิจัยที่ส่วนใหญ่เป็นนักรังสีการแพทย์ แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ด้านรังสีเบื้องต้นอยู่แล้ว จึงทำให้บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการทดสอบโดยไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing) หรือ NDT โดยการถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจสอบรอยเชื่อมของถังเหล็กหรือห่อกลั่นของโรงงานอุตสาหกรรม บุคลากรกลุ่มนี้ต้องทำงานใกล้ชิดกับต้นกำเนิดรังสีและ จากการที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่ ทำให้ ไม่สามารถจัดระบบการป้องกันอันตรายจากรังสีที่เหมาะสมได้ จึงได้รับรังสีเฉลี่ยสูงกว่า กลุ่มอื่นฯโดยได้รับรังสีเฉลี่ยในช่วง 5 ปีระหว่าง 1.4 — 2.3 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี เมื่อนำมาคำนวณ อัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการทำงาน ด้านรังสีตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ (International Commission on Radiological Protection) หรือ ICRP โดยในปี 2553 พบว่ามีบุคลากรในกลุ่มดังกล่าวมีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงาน 12 คนต่อบุคลากรแสนคน ในขณะที่บุคลากรด้านรังสี ในกลุ่มงานอุตสาหกรรมทั่วไปมีอัตราเสี่ยงน้อยกว่าในอัตรา 0.3 คนต่อบุคลากรแสนคน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ความสำคัญกับการได้รับรังสีสูงของบุคลากรด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากการตรวจวัดปริมาณรังสี พบผู้ได้รับรังสีสูงเกินค่าที่กำหนดมากกว่าบุคลากรกลุ่มอื่นๆ จึงได้จัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นด้านรังสี การป้องกันอันตรายจากรังสี การใช้อุปกรณ์วัดรังสีประจำบุคคลย่างถูกวิธี และกฎหมายด้านรังสีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดมาตรการในการปฏิบัติงาน อย่างถูกต้องเหมาะสม และได้รับรังสีในขณะปฏิบัติงานน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามหลัก ALARA (As Low As Reasonably Achievable) นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานตรวจวัดรังสีประจำบุคคล คือ การตรวจวัดปริมาณรังสีที่ได้รับขณะปฏิบัติงาน โดยใช้เครื่องวัดรังสีประจำบุคคล สำหรับบุคลากร ที่ปฏิบัติงานด้านรังสี เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบป้องกันอันตรายจากรังสี เป็นการ เฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงไม่ให้บุคลากรด้านรังสีได้รับปริมาณรังสีเกินกว่า ค่ามาตรฐานที่ ICRP กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน และมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสีในบริเวณที่ปฏิบัติงานได้อีกด้วย ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรังสีจำเป็นต้องใช้เครื่องวัดรังสีประจำบุคคล และเป็นความรับผิดชอบของผู้ยื่นขออนุญาตขอใช้เครื่องกำเนิดรังสี เช่น เครื่องเอกซเรย์ หรือแหล่งกำเนิดรังสีอื่นๆ ที่ต้องจัดหาเครื่องวัดรังสีให้ผู้ปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2550 ตาม พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องกำหนดมาตรฐาน ในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 029510000 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ