กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดสมอแครง” สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรับเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยนำมาจากพระนามเดิมของ กรมพระพิทักษ์เทเวศร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) เนื่องจากกรมพระพิทักษ์เทเวศร ทรงอุปถัมภ์ และบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้
ปีนี้เป็นอีกปีที่ สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ร่วมกับวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร จัดงานประจำปี “งานเทศกาล วัดเทวราชกุญชร 2554 ทศวรรษบารมี” ที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อต้อนรับประชาชน และนักท่องเที่ยว ในวันอาทิตย์ที่ 5 ถึงวันจันทร์ 6 มิถุนายนนี้ ณ บริเวณวัดเทวราชกุญชร ภายใต้แนวคิด...ทศวรรษบารมี... หรือ เป็นวาระในการครบรอบ 10 ปี ของ พระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาส วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ผู้ซึ่งเป็นศาสนทาญาติดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคคลบาทองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้าเฉกเช่น อริยสาวกในเมื่อครั้งพุทธกาล อีกทั้งยังมุ่งมั่นพัฒนาทางโลก คือการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดให้สวยงามดั่งที่เห็นในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
พระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 13 กล่าวว่า การจัดงานนี้ ถือว่าเป็นการโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันอนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรม วีถีชีวิตของไทยให้เด็กรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติได้รู้จัก โดยเชิญชวนให้มาร่วมสักการบูชาไหว้พระ ขอพร พระพุทธเทวราช ปฏิมากร พระประธานอันศักดิ์สิทธิ์ในพระอุโบสถวัด ที่งดงามไปด้วยสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 และภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ถัดมาเป็นพระวิหารอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยอู่ทอง ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวน 9 องค์ ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เดินต่อมาอีกหน่อยก็จะถึงมณฑปจัตุรมุข ภายในมีพระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรัทธามานาน และพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อเดินดูสถาปัตยกรรม และศิลปะความงดงามของวัดไปเรื่อยๆ ก็จะสะดุดตากับรูปปั้น อมรินทรเทวราช ที่เป็นสัญลักษณ์ ของวัดแห่งนี้ (เทวราชกุญชร แปลว่า ช้างพระอินทร์) และด้านหลังของอมรินทรเทวราช ก็คือ “พิพิธภัณฑ์สักทอง” เป็นสถาปัตยกรรม ทรงปั้นหยา 2 ชั้น ที่งดงามมาก ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา พระรูปปั้นสมเด็จพระสังฆราช 18 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระเถราจารย์ โดยพิพิธภัณฑ์สักทอง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ เวลา 10.00-20.00 น.
กล่าวถึง กิจกรรมทางพุทธศาสนาที่จะเกิดขึ้นในงานกันบ้าง ภายในพระอุโบสถจะมีการจัดพิธีถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ การถวายผ้าไตรจีวรพระพุทธเทวราชปฏิมากรในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 เวลา 18.00 น. และรับแจกน้ำทิพย์มนต์ ในพระวิหาร อีกกิจกรรมเด่นคือ “พิธีครอบเศียรเกล้าเพื่อความเป็นสิริมงคล” ทำพิธีโดยพระสงฆ์เป็นผู้เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นนำบุษบกที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา อินเดีย และพม่า ยกเทินขึ้นที่ศีรษะชาย-หญิง ในขณะที่ครอบให้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรได้ 1 อย่าง เป็นอันเสร็จพิธี เปิดรอบพิเศษตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. ในมณฑปจัตุรมุข
นอกจากกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ภายในงานยังมี กิจกรรมการแสดงมหรสพ อันได้แก่ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทุก, การแสดงลิเก โดย ลูกทุ่งสวย ลิเกสาว จิ้งหรีดขาว วงศ์เทวัญ, การแสดงเทิดพระเกียรติ ชุด ธงชาติไทย, การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยแคนดี้ รากแก่น ณ เวทีหลักของงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่าเข้าชมแต่อย่างใด อีกทั้งยังมี การสาธิต เพื่อเป็นการอนุรักษ์ เผยแพร่ และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยต่างๆ มากมาย บริเวณลานพระอุโบสถ อาทิ การทำพานพุ่มเทิดพระเกียรติ ด้วยเครื่องสด, การร้อยพวงมาลัยถวายพระ, การทำของเล่นเด็กโบราณเป็นต้น
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีกิจกรรมถ่ายภาพย้อนยุค โดยให้ผู้เข้าร่วมงานได้เก็บภาพแห่งความทรงจำในชุดไทยย้อนยุคแบบภาคเหนือ, การแสดงดนตรีไทย รวมไปถึงการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ชุมชน และสุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ กิจกรรมการแสดง แสง เสียง และสื่อผสม เรื่อง “ทศวรรษบารมี ศรีวรอาราม” ซึ่งเป็นการนำเสนอ ประวัติศาสตร์แห่งวัดเทวราชกุญชร ตั้งแต่ ยุคสมัยในอดีตจวบจนครบรอบ 1 ทศวรรษ แห่งการบรูณปฏิสังขรณ์วัด กล่าวถึงการบำเพ็ญทศบารมี ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาของพระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
เทศกาล วัดเทวราชกุญชร 2554 จะจัดขึ้น 2 วัน คือ 5-6 มิถุนายน 2554 โดยสามารถเข้าไปสักการะไหว้พระขอพร และชมความงดงามของวัดได้ตลอดทั้งวัน ส่วนกิจกรรมการแสดงต่างๆ ดังกล่าวนั้นจะเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. อย่างไรก็อย่าลืมเข้าวัดไหว้พระ ทำบุญ ชำระจิตใจ เพื่อต้อนรับวันใหม่ๆ กันบ้าง ในฐานะที่เป็นประชาชนของเมืองแห่งพระพุทธศาสนา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 559 0601 วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร