กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กรมศุลกากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช และเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แถลงข่าวจับกุมเต่า ตะพาบ และตะโขง ลักลอบนำเข้าจากเมืองธากา ประเทศบังคลาเทศ โดยซุกซ่อนมาในกระเป๋าเดินทาง จำนวน ๔๕๑ ตัว มูลค่าประมาณ ๑ ล้านบาท
ตามที่ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากรและปกป้องสังคมอย่างเคร่งครัด จึงได้สั่งการให้ นายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายเสรี ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม นายวรพัฒน์ เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม ๓ ดำเนินการวางแผนจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าฯ โดยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักสืบสวนและปราบปราม ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้มงวดพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) สำหรับผู้โดยสารที่เดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายสืบสวนปราบปรามที่ ๑ ส่วนสืบสวนปราบปราม ๓ สำนักสืบสวนและปราบปราม ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำโดย นายธนิต วัฒน์ธนนันท์ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนปราบปรามที่ ๑ นายสดับ วัฒนเสถียร หัวหน้างานสืบสวนปราบปราม ๑ นายพิสิษฐ์ ฉ่อนเจริญ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรงานสืบสวนปราบปราม ๑ ร่วมกับ นายนิรัฐ นิภานันท์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการแจ้งเบาะแสจนสามารถนำไปสู่การจับกุมเต่า ตะพาบ และตะโขง ซุกซ่อนในกระเป๋าเดินทาง จำนวน ๔ ใบ
ผลการเปิดตรวจพบสัตว์มีชีวิตประเภทเต่าดาวอินเดีย ประเภทตะโขง ประเภทตะพาบและเต่าน้ำ จำนวน ๙ รายการ ตามรายละเอียดดังนี้
๑. เต่าดาวอินเดีย จำนวน ๓๕ ตัว
๒. ตะโขง จำนวน ๗ ตัว
๓. ตะพาบม่านลาย จำนวน ๑ ตัว
๔. ตะพาบ จำนวน ๗ ตัว
๕. เต่าหลังหนามขนาดกลาง จำนวน ๒๐ ตัว
๖. เต่าหลังหนามขนาดจิ๋ว จำนวน ๑๒๒ ตัว
๗. เต่าน้ำขนาดใหญ่ จำนวน ๕๖ ตัว
๘. เต่าน้ำขนาดกลาง จำนวน ๖๓ ตัว
๙. เต่าน้ำขนาดเล็ก จำนวน ๑๔๐ ตัว
จำนวนทั้งสิ้น ๔๕๑ ตัว มูลค่าประมาณ ๑ ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งให้ ผู้เกี่ยวข้องทราบว่าสัตว์มีชีวิตที่ค้นพบดังกล่าวเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายหรือพิสูจน์ความผิด และเจ้าของหรือผู้ครอบครองมีความผิด ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบกับมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ( ฉบับที่ ๙ ) พ.ศ. ๒๔๘๒ และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และ พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ เจ้าหน้าที่ฯจึงได้ยึดของดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ส่งมอบให้ด่านตรวจสัตว์ป่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รับไปดำเนินการพร้อมทั้งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สถิติปีที่ผ่านมากรมศุลกากรสามารถจับกุมผู้ลักลอบนำสัตว์มีชีวิตเข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทั้งสิ้น จำนวน ๒ คดี มูลค่าประมาณ ๖.๑๘ ล้านบาท ประกอบด้วย
๑. เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ จับกุมเต่าดาว จำนวน ๑,๑๔๐ ตัว และลูกจระเข้ จำนวน ๑ ตัว
๒. เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ จับกุมเต่าบกลายรัศมี จำนวน ๒๑๘ ตัว
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ นับเป็นรายแรกที่สามารถจับกุมได้และมีมูลค่าสูงถึงล้านบาท