กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--สวทช.
นักวิชาการ แนะหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระน้ำ สนามกอล์ฟ ฯลฯ ในช่วงฝนฟ้าคะนอง เพราะมีโอกาสเสี่ยงถูกฟ้าผ่าสูง ย้ำประชาชนควรทำความเข้าใจการเกิดฟ้าผ่าที่ถูกต้อง เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากฟ้าผ่า
ในช่วงฝนฟ้าคะนองของทุกปี มักพบข่าวการเสียชีวิตของประชาชนจากการถูกฟ้าผ่า และบ่อยครั้งมักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านหรือประชาชนซึ่งอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะที่ฝนตก ดังเช่นกรณีล่าสุดมีข่าว นายสุชาติ เอมศรี อายุ 51 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) เกยไชย จ.นครสวรรค์ ถูกฟ้าผ่าขณะที่เดินทางออกจากบ้านไปขุดร่องน้ำ ในที่นาของตนเพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาข้าว ซึ่งในเบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่านาฬิกาข้อมือของนายสุชาติ อาจเป็นสาเหตุของการถูกฟ้าผ่า ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความจริงแล้วโลหะนั้นแทบจะไม่มีผลใดๆในการล่อฟ้าเลย ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้นคาดว่าน่าจะเสียชีวิตจากฟ้าผ่า เนื่องจากมีกระแสวิ่งตามพื้น (ground current) เป็นจำนวนมาก
“สิ่งสำคัญที่ประชาชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฟ้าผ่า คือ มนุษย์ไม่เพียงได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าโดยตรง แต่ยังมีฟ้าผ่าประเภทอื่นๆที่ทำอันตรายได้ กรณีที่พบได้มากคือ กระแสวิ่งตามพื้น คือ จุดที่ถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้ายังวิ่งออกไปยังบริเวณโดยรอบ เช่น ฟ้าผ่าต้นไม้ กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งจากลำต้นลงมาที่โคนต้นไม้และกระจายออกไปตามพื้นดินที่มีน้ำเจิ่งนอง ซึ่งหากมีวัวยืนอยู่ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านสองขาหน้าของวัว ผ่านไขสันหลัง เข้าสู่สมอง ลงมาที่สองขาหลัง กระแสครบวงจร นั่นคือวัวถูกฟ้าผ่า หรือจะเรียกว่าวัวถูกไฟดูดก็ได้ ถ้าเป็นคนยืนอยู่ใกล้ต้นไม้ ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ต้นไม้ กระแสไฟฟ้าวิ่งลงดิน ผ่านขา ผ่านหัวใจ ผ่านไขสันหลัง ผ่านสมอง ทำให้หายใจไม่ออก หัวใจอาจจะเริ่มหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งการเกิดลักษณะนี้ ในทางวิชาการเรียกว่าเกิดจากแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (Step Voltage) คือ เกิดความต่างศักย์ กระแสไฟจึงวิ่งเข้าไปในร่างกายได้
โดยตัวอย่างเหตุการณ์ฟ้าผ่าแบบกระแสวิ่งตามพื้นนี้ เช่น กรณีข่าวฟ้าผ่าวัวตายจำนวนมากในเวลาเดียวกัน และมักจะสันนิษฐานว่าเกิดจากกระดิ่งโลหะที่แขวนคอเป็นตัวล่อ ซึ่งความจริงแล้วโอกาสที่สายฟ้าจะผ่าลงมาตรง กระดิ่งขนาดเล็กของวัวพร้อมกันหลายๆตัวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากฟ้าผ่าอีกสองประเภท คือ ไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า เช่น หากหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า เสาอากาศ และมีบางส่วนของร่างกายแตะกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าก็จะไหลเข้าสู่ลำตัวได้โดยตรง และไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง (side flash) คือ หากคุณอยู่ใกล้ต้นไม้ หรือโครงไม้ของเพิงที่เปิดด้านใดด้านหนึ่ง กระแสไฟฟ้าอาจ “กระโดด” เข้าสู่ตัวคุณทางด้านข้างได้ โดยแม้ว่าคุณจะไม่ได้แตะจุดที่ฟ้าผ่าเลยก็ตาม”
ดร.คมสัน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากฟ้าผ่าได้มาก คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเกิดฟ้าผ่าให้ถูกต้อง โดยอันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าฟ้าผ่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นภายใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ ปะทะกับอากาศ ก็จะเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำและน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่ประจุลบจะอยู่ทางด้านล่างของก้อนเมฆ ขณะที่ประจุบวกจะอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ ประจุบลบด้านล่างก้อนเมฆมีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกสิ่งที่อยู่บนพื้นดินใต้ก้อนเมฆเป็นประจุบวกได้ทั้งหมด เมื่อประจุลบใต้ก้อนเมฆมีปริมาณมากพอ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆค่อยๆแตกตัว ประจุลบวิ่งลงมาด้านล่างและบรรจบกับประจุบวกที่วิ่งขึ้นมา และเกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด
“ฉะนั้นเมื่อทราบหลักการเกิดฟ้าผ่าแล้วจะพบว่า ทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ จุดที่สูง เช่น ต้นไม้ อาคารสูง ในบริเวณที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ฯลฯ เนื่องจากประจุไฟฟ้าบวกกับลบมีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามในช่วงฟ้าฝนคะนองเช่นนี้ เพื่อความปลอดภัยจากฟ้าผ่า ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระน้ำ สนามกอล์ฟ เป็นต้น รวมทั้งไม่ควรหลบฝนอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่เพราะตามสถิติแล้ววัตถุหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่สูงกว่าจะมีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่ามากกว่า สำหรับสถานที่หลบภัยจากฟ้าผ่า คือ หลบภายในตัวอาคาร หรือรถยนต์ที่ปิดกระจก โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่สัมผัสกับวัสดุที่เชื่อมต่อกับอาคารหรือตัวรถด้านนอกซึ่งอาจถูกฟ้าผ่าได้ งดการใช้โทรศัพท์แบบมีสาย ถอดปลั๊กโทรทัศน์ และไม่ควรเล่นอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์เพราะกระแสไฟฟ้าจากอาคารสามารถวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ได้ ขณะที่คนซึ่งอยู่กลางแจ้งเมื่อเกิดฟ้าผ่าให้นั่งยองๆ ก้มศีรษะเพื่อลดตัวให้ต่ำที่สุด เท้าชิดกันและเขย่งเล็กน้อยเพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟไหลมาตามพื้น” ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้าย 03/06/54