กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ครูกลุ่มสูง) เพื่อยกระดับครูผู้สอนที่ผ่านการประเมินศักยภาพจากกระทรวงศึกษาธิการในระดับสูง ให้สามารถเป็นครูผู้นำในการขยายผลสู่โรงเรียนระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยจัดอบรมครูที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของ สพฐ. ในกลุ่มระดับสูง (Master Teacher) หลักสูตร “เพิ่มพูนสมรรถนะครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554
การอบรมประกอบด้วย 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์อีสานตอนล่าง วันที่ 7-12 พ.ค.2554 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ศูนย์ภาคเหนือ วันที่ 19-24 พ.ค.2554 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ภาคใต้ วันที่ 19-24 พ.ค. 2554 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จ.พัทลุง ศูนย์อีสานตอนบน วันที่ 19-24 พ.ค.2554 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น และศูนย์ภาคกลาง วันที่ 23-28 พ.ค.2554 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
เรามาตามไปดูการอบรมที่ภาคอีสานตอนล่างที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ซึ่งวัตถุประสงค์ของการอบรมครั้งนี้เพื่อพัฒนาครูผู้นำทางวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความเชื่อมั่นในการขยายผลสู่ครูโรงเรียนระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาและกิจกรรมในการอบรม อาทิ แผนที่ดาวและการใช้โปรแกรม Stellarium เพื่ออธิบายการใช้งานของแผนที่ดาวในการบอกตำแหน่งกลุ่มดาวที่สนใจและเวลาขึ้นตกของดวงอาทิตย์ ระบุตำแหน่งของกลุ่มดาว อธิบายการบอกทิศจากกลุ่มดาว การใช้สื่อดิจิทัลประกอบการเรียนการสอนดาราศาสตร์ อธิบายการใช้สื่อดิจิทัลประกอบการเรียนรู้เรื่องทรงกลมฟ้า ข้างขึ้นข้างแรม และการมองเห็นดวงจันทร์ด้านเดียว
ดิน หิน และแร่ ทดลองและอธิบายลักษณะทางกายภาพและสมบัติทางเคมีของดินในท้องถิ่น สำรวจและอธิบายการใช้ประโยชน์ดินในท้องถิ่น วิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพดินในท้องถิ่น วิเคราะห์องค์ประกอบของเนื้อดิน เพื่อระบุชนิดและประเภทของหินหรือแร่ที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน สถานีตรวจอากาศพื้นฐาน เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถสร้างหรือออกแบบเครื่องมือการตรวจอากาศพื้นฐานได้ น้ำขึ้นน้ำลง เพื่ออธิบายหลักการเกิดน้ำขึ้นน้ำลง ทำนายการเกิดน้ำขึ้นน้ำลงครั้งต่อไป การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม อธิบายความสำคัญและความสัมพันธ์ของยีน ดีเอ็นเอ และโครโมโซมได้ คาดคะเนจีโนไทป์และฟีโนไทป์ของลักษณะทางพันธุกรรมที่ควบคุมด้วยคู่ยีนในตำแหน่งเดียว แบบข่มสมบูรณ์ได้ อธิบายโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนและโครโมโซมได้ ฯลฯ
คุณครูภัณฑา ไชยเดชะ โรงเรียนกนกศิลป์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า ประทับใจกิจกรรมสำรวจดิน เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่ค่อยถนัดและไม่มีกิจกรรมที่จำจูงใจให้เด็กสนใจเรียนได้ แต่เมื่อได้มาอบรมและได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้มีความเข้าใจ และมีแนวทางนำไปจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนได้ การอบรมครั้งนี้ได้เพิ่มพูนความรู้ในเนื้อหาและเทคนิคการสอน ปรับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และได้แนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนนี้ หลังจากนี้ไปจะนำความรู้และกิจกรรมที่ได้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน และขยายผลแก่ครูครูท่านอื่น ๆ ในโรงเรียน
คุณครูชะนะชัย จันทร์วัติ โรงเรียนบ้านดอนก่อ จังหวัดอุบลราชธานี ชอบเนื้อหาเรื่องลมฟ้าอากาศ เพราะมีกิจกรรมผ่อนคลายไม่เคร่งเครียดมาก วิทยากรก็เป็นกันเอง มีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สอนในชั้นเรียน กลับไป จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปผลิตสื่อการสอน และค้นคว้าเพิ่มเติมมากขึ้น
คุณครูปราณี แก้วพวง โรงเรียนค้อวังวิทยาคม จังหวัดยโสธร บอกว่า กิจกรรมในการอบรม เป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง ได้ระดมความคิด มีกระบวนการกลุ่ม ได้นำเสนอความรู้หน้าชั้นเรียน สามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้จริง และนำไปเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูคนอื่น
คุณครูจุฬาลักษณ์ ไตรยวงค์ โรงเรียนบ้านหนองนกเขียน จังหวัดมุกดาหาร เล่าว่า ประทับใจการประดิษฐ์เครื่องมืออุตุนิยมวิทยาอย่างง่าย เพราะสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้กับนักเรียน เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น และสนุกสานานกับการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นพื้นฐานของการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันด้วย กลับไปจะนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียน และถ่ายทอดเทคนิควิธีการสอนและเนื้อหาความรู้กับครูในโคงเรียน ครูเครือข่าย รวมทั้งเพื่อนครูที่สนใจ
โดย สสวท. หวังว่าครูดังกล่าวที่ได้รับการ อบรม พัฒนาและปรับเปลี่ยนวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และมีศักยภาพในการบริหารและจัดการศึกษาให้ได้ถึงขีดสูงสุด และนำความรู้ความสามารถกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถานศึกษาและให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ