กระทรวงสาธารณสุข จับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังรัฐบาล 14 ประเทศกู้วิกฤตด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--นาราซีซเท็ม
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI) 5 หน่วยงานร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพมหานคร หวังผนึกกำลังต้านวิกฤตโลกร้อนและปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสมาชิก เผชิญอยู่
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการแถลงข่าวการประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเปิดเผยถึงความเป็นมาในการจัดประชุมในครั้งนี้ ว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกต่างประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะของโลกและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาสารอันตรายและของเสียอันตราย ปัญหาด้านมลภาวะ ปัญหาการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นและแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคนี้ ดังนั้นประเทศสมาชิกโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) ได้ให้ความสนใจในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงจัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าวครั้งแรกที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีการปรึกษาหารือกันในประเด็นปัญหาสำคัญของภูมิภาค 5 ประเด็น ได้แก่ คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ สารเคมีอันตรายและกากของเสีย ความยากจน ระบบนิเวศและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นยังให้ความสนใจกับสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่และกำลังจะเกิดขึ้นซึ่งมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชากร เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและระบบนิเวศ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก จากการประชุมในครั้งแรกได้มีข้อเสนอการดำเนินงานในระดับประเทศ (National Recommendations) และระดับภูมิภาค (Regional Recommendations) ที่แสดงถึงความจำเป็นในการร่วมมือด้านงานวิจัย การศึกษาและฝึกอบรมในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสอดแทรกความรู้เข้าไปในระบบการศึกษาทุกระดับ
หลังจากนั้นได้มีการประชุมในระดับภูมิภาคอีกครั้งใน ปี 2548 เพื่อทบทวนและประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงาน และร่วมกันพิจารณาร่างกฎบัตรความร่วมมือด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์กลางที่จะเป็นเวทีระดับภูมิภาคในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งเป็นประเด็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมรัฐมนตรี 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศไทย และประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐมองโกเลีย และสาธารณรัฐเกาหลี โดยจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม และในวันที่ 9 สิงหาคม จึงจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ความเห็นและรับรองกฎบัตรความร่วมมือด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาประเด็นด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในการประชุมแบ่งออกเป็น 6 เรื่อง ได้แก่ คุณภาพอากาศ (Air Quality), น้ำ สุขอนามัยและการสุขาภิบาล (Water, Hygiene and Sanitation), มูลฝอยและมูลฝอยอันตราย (Solid and Hazardous Substances), สารพิษและสารเคมีอันตราย (Toxic chemicals and hazardous substances), การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change, Ozone Depletion and Ecosystem Changes) และการเตรียมการรองรับภาวะฉุกเฉินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Preparedness and Response in Environmental Health Emergencies) โดยคณะผู้เข้าประชุมจะร่วมพิจารณาแผนดำเนินงานด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค (Regional Work Plan on Environment and Health) แล้วแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีแสดงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกใน 2 ภูมิภาคอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยได้น้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เน้นกระบวนการจัดทำแผนแบบทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจากประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2550 นี้
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการพัฒนาระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาปัจจุบันและในอนาคตนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้อย่างเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้และตระหนัก ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการที่ประเทศไทยคาดว่าจะได้รับจากการประชุม คือ การได้แสดงเจตนารมณ์ของการให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศสมาชิกในการจัดการปัญหาด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่จากผลพวงของปัญหาสภาวะโลกร้อน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยทุกกลุ่มทุกวัย นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือภายในประเทศ โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บ.นาราซีซเท็ม จำกัด
ฉันทวรรณ (เล็ก),พิมพ์ลภัส (พิม)
โทร. 0-2722-7311-3, 0-2590-4025
โทรสาร 0-2722-7202
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ