กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ก.อุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค เฟ้นหาสุดยอดสถานประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร SMEs ใน 75 จังหวัดๆ ละ 2 แห่งรวมกว่า 72 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพการผลิต 5 ด้าน พร้อมให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทำแผนงานพัฒนาอีกจังหวัดละ 1 แผน ชูศักยภาพการบูรณาการการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน
โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร หรือ 1 Province 1 Agro-Industrial Product เกิดขึ้นจากความพยายามของภาครัฐที่ได้น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 มาปรับใช้เป็นแนวทางการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการส่งเสริม OTOP และ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการกระจายการผลิต การรับช่วงการผลิต เกิดการจ้างงานและขยายลงทุนไปสู่ภูมิภาค อันจะนำไปสู่การสร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนเข้มแข็งควบคู่กันไป ซึ่งการดำเนินการข้างต้น จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างทั่วถึง
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงโครงการฯ ว่า “จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้สามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เมื่ออุตสาหกรรมหันมาเน้นเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น การใช้ทุนจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เปรียบเหมือนการสร้างเกราะ หรือภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทย ที่ช่วยลดการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ และใช้สินค้าทุนให้มีประสิทธิภาพ หรือการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นเกษตรกร ประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งสถานประกอบการ SMEs นำร่องของ 75 จังหวัดๆ ละ 2 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการวัตถุดิบ การผลิต การยกระดับมาตรฐาน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เมื่อยกระดับข้างต้นได้ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ”
โครงการ 1 Province 1 Agro Industrial Product มุ่งเน้นการพัฒนาที่ครอบคลุมในทุกมิติโดยมีทีมที่ปรึกษาภาครัฐในท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ความรู้ แนะนำพร้อมยุทธศาสตร์แผนพัฒนา 5 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการวัตถุดิบและโลจิสติกส์ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3) ลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและพลังงาน 4) การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือระบบมาตรฐานสากล และ 5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยสถานประกอบการ SMEs นำร่องของ 75 จังหวัดๆ ละ 2 โรงงานที่ได้รับคัดเลือก รวม 150 โรงงานจะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างน้อย 3 แผนงานใน 5 แผนงานและมีการนำไปประยุกต์ใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
นายจักรมณฑ์ กล่าวเสริมว่า “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องช่วยปิดจุดอ่อนจากการนำเข้าสินค้าทุนจากอุตสาหกรรมหนัก มาเสริมจุดเด่นคือเน้นหนักในอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น โดยเสริมสร้างความคิดของผู้ประกอบการไทยให้ใช้ความรู้มาพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพและนวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่การสั่งซื้อเครื่องจักร เพิ่มทุน เพิ่มแรงงาน หรือแข่งขันกันด้วยการลดต้นทุน เพื่อจะขายในราคาถูก อุตสาหกรรมในอนาคตต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้ ประสิทธิภาพและผลิตภาพ รวมถึงส่งเสริมในสิ่งที่ถนัดมาช้านานนั่นคือการเข้าไปพัฒนาแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างจริงจัง” นายจักรมณฑ์ กล่าว
กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าโครงการนี้ เกษตรกรและประชาชนในภูมิภาคจะเข้าใจการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุนขยายกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการพัฒนาฯ จะมีกว่า 150 ล้านบาท มูลค่ายอดขายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และการมีแผนงานและโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่มีการดำเนินงานเชื่อมโยงทุกภาคส่วน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2553 จะขยายผลการดำเนินงานไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรของจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง