กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กรมสรรพสามิต
คลัง ดัน “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต” ขึ้นชั้นเป็นต้นแบบให้กับกรมจัดเก็บภาษี เชื่อจะสร้างเชื่อมั่นและความโปร่งใสให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนต่างชาติ ด้าน อธิบดีฯพงศ์ภาณุ ตั้งเป้าอีกไม่นานจะโยกศูนย์นี้ไปขึ้นกับสำนักงานปลัดฯแทน
ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทวงการคลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต” ว่า ถือเป็นแนวทางดีและสอดรับกับภาวะการณ์ที่ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียนและกลุ่มการค้าอื่นๆ ที่ไม่เพียงจะสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคและโปร่งใสในการดำเนินงานจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
ทั้งนี้ หาก “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต” สามารถดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทางกระทรวงการคลังก็อาจจะนำไป “ต้นแบบ” ให้กับกรมจัดเก็บภาษีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร หรือกรมศุลกากรใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินงานในโอกาสต่อไป
ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เนื่องจากกรมกำหนดให้ปีงบประ มาณนี้ เป็น “ปีแห่งความโปร่งใส” จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต” ขึ้นมาเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานความชัดเจน และลดภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของกรมฯ
“ไม่เพียงข้อร้องเรียนถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากแต่ศูนย์นี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยทุกคน ได้เสนอแนะความคิดเห็นดีๆ ส่งตรงมายังศูนย์นี้ และผมในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงก็พร้อมจะติดตามเรื่องให้จนถึงที่สุด ยืนยันได้ว่าทุกเรื่องที่ถูกส่งมายังศูนย์ ก็จะมีคณะกรรมการ ซึ่งหลายท่านเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง คอยทำหน้าที่ตรวจสอบ ดูแล และแก้ไขในทุกๆ ปัญหา โดยจะไม่มีเรื่องคั่งค้างเหมือนเช่นในอดีตอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากทุกเรื่องที่ส่งมาถึงผม ก็จะดำเนินการให้โดย เร็วที่สุด” นายพงศ์ภาณุ ย้ำ และกล่าวว่า หาก “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต” ประสบความสำเร็จเช่นที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะยกระดับให้เป็นศูนย์นี้ไปขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อรับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ของกรมจัดเก็บภาษีต่อไป
อนึ่ง สามารถติดต่อกับศูนย์ดังกล่าว ได้หลายช่องทาง อาทิ อีเมล erpc@excise.go.th เว็บไซต์ http// erpc. excise. go.th เฟรซบุ๊กส์ www,facebook.com/ศ.ค.ส. โทร. 02-241-2569-71 โทร. สายด่วน 1713 หรือติดต่อโดยตรงที่ชั้น 1 อาคารเทคนิค 2552 กรมสรรพสามิต