กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 30 พ.ค. — 3 มิ.ย. 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) อยู่ที่ระดับ 108.90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 115.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.93 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 100.90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.01 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในส่วนของน้ำมันเบนซินราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 121.56 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 127.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่ :-
ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก
- 3 มิ.ย. 54 กลุ่มผู้ประท้วงยิงจรวดโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีเยเมน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย โดยประธานาธิบดีเยเมน นาย Ali Abdullha Saleh บินไปรักษาตัวที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย
- ประเทศสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (ปลาย พ.ค. — ก.ย. 54) เป็นช่วงที่มีการบริโภคน้ำมันเบนซินสูงที่สุด
- บริษัท Transcanada Corp. หยุดดำเนินการชั่วคราวท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone (590,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเมือง Alberta ประเทศแคนาดามายังเมือง Cushing ในสหรัฐฯ
- ปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Forties จากแหล่งทะเลเหนือในเดือน มิ.ย. 54 ลดลงอยู่ที่ 0.40 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคส่งผลให้ปริมาณผลิตจากแหล่ง Buzzard ลดลง
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (European Union Statistics Office: Eurostat) รายงานอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปในเดือน เม.ย. 54 ลดลง 0.1% (M-O-M) อยู่ที่ระดับ 9.4%
ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 373.8 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรอง Gasoline อยู่ที่ระดับ 212.3 ล้านบาร์เรล (+2.6 ล้านบาร์เรล) อย่างไรก็ตามปริมาณสำรอง Distillates ลดลงอยู่ที่ 140.1 ล้านบาร์เรล (-1.0 ล้านบาร์เรล)
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงาน อัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.1% อยู่ที่ระดับ 9.1%
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 54 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 14% อยู่ที่ระดับ 3.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. 54 ที่ระดับ 2.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- Gross Domestic Product (GDP) ของอินเดียในไตรมาส 1/54 อยู่ที่ 7.8% ขยายตัวตัวต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส
แนวโน้มสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับที่ 113 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และแนวต้านที่ 117 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI คาดการณ์ว่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 99 -103 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ International Energy Agency (IEA) นาย Faith Birol คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 3.0-3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/54 โดยอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยว (Driving Season) และความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน ในภาคเศรษฐกิจมีข่าวกรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือในเดือน ก.ค. นี้ จากธนาคารกลางยุโรป, IMF และคณะกรรมาธิการยุโรป อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น และอัตราว่างงานในสหภาพยุโรปทรงตัวอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ Moody’s อาจลดระดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้รายได้ลดลง ให้จับตามองผลการประชุมของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพี่อการส่งออก (OPEC) ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ ว่าจะเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตหรือไม่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537-1630
โทรสาร 0 2537-2171