“เติมเต็มนวัตกรรม ด้วยแรงบันดาลใจจากพ่อ”

ข่าวทั่วไป Monday June 6, 2011 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ปตท. ทุกพื้นที่บนโลกกลมๆ ใบนี้ล้วนแล้วแต่มี “ปัญหา” อาจจะเล็กหรือว่าใหญ่แตกต่างกันไป บางคนอาจมองว่า “ปัญหา” เป็นจุดจบ แต่ถ้าลองพลิกใจกลับมามองว่า “ปัญหา” เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาเฉกเช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อ” ของแผ่นดิน ที่ทรงสรรค์สร้างนวัตกรรมมากมาย เพื่อแก้ปัญหาให้กับปวงชนชาวไทย “ลูก” ของพระองค์ได้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อนั้นเราเองก็สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน ด้วยแนวคิดดังกล่าวข้างต้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้นำเยาวชนนักคิด นักประดิษฐ์นวัตกรรมรุ่นใหม่และคณะอาจารย์ที่ปรึกษารวมกว่า 150 ชีวิต ที่ร่วมส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมด้านพลังงานและผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้งสิ้น 30 ทีม มาสร้างแรงบันดาลใจจากพ่อ ผ่านการศึกษาดูงานตามโครงการส่วนพระองค์ เสริม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคิด การประดิษฐ์นวัตกรรมด้านพลังงาน เติม ประสบการณ์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง และ ปลูก ฝังแนวคิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ใน “ค่ายเรียนรู้พลังงาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อาคารสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร และอาคารที่พักสวัสดิการ ทอ. (บ่อฝ้าย) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสเติมเต็มแรงบันดาลใจจากการศึกษาดูงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พ่อ” ของปวงชนชาวไทย ถึง 2 โครงการ คือ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา อันเป็นศูนย์รวมโครงการต้นแบบต่างๆ ที่ในหลวง ทรงคิดและพัฒนาขึ้นเพื่อคนไทย และ ศูนย์ฝนหลวง หัวหิน หนึ่งในศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ยังมีการเติมเต็มกระบวนการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายจะได้รับฟัง ข้อสังเกต คำแนะนำ และแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ท่าน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดล้วนเป็นหนทางในพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมด้านพลังงานของแต่ละทีม เพื่อให้เข้าใกล้รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาทที่รออยู่ตรงปลายทางเมื่อโครงการสิ้นสุดลง “เฌอ” เด็กหญิงมัทวัน เพชรวัตร นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสเข้าชมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ว่า “รู้สึกทึ่งที่พระองค์ทรงใช้ “บ้าน” ของท่านในการพัฒนาโครงการต้นแบบต่างๆ เพื่อคนไทยทุกคน ให้ได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานทดแทนต่างๆ ทั้งโครงการโรงบดแกลบที่นำแกลบมาผลิตถ่านเพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิง บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากกังหันลม ที่สำคัญที่นี่มีโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซล ที่ท่านได้เริ่มโครงการตั้งแต่เกือบ 20 ปีมาแล้ว ทั้งๆที่ตอนนั้นปัญหาน้ำมันยังไม่เกิดเลย แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์” “ธันเดอร์” นายวัชรวงษ์ ศรีนุกูล นักศึกษา ปวส 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จ.สกลนคร กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างที่สุดที่ผลงานของทีมผ่านการคัดเลือก เพราะผลงานนี้มาจากการร่วมแรงร่วมใจของเพื่อนๆ ในทีมอีก 3 คน ที่พร้อมใจกันมาระดมความคิดรวมกัน ผ่านความยากลำบากนานับประการ กว่าจะได้ผลงานที่สมบูรณ์ “ตอนนี้หายเหนื่อย และรู้สึกภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มาก แต่ที่ภูมิใจมากกว่าคือการที่ประเทศเรามีในหลวง พวกเราทุกคนได้มีโอกาสเยี่ยมชม โครงการฝนหลวงที่หัวหิน ได้เข้าไปเห็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำไว้เพื่อประเทศไทย เมื่อก่อนรู้แต่ว่ามีฝนหลวง แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีวิธีหรือขั้นตอนการทำอย่างไร เคยเห็นแต่ในโทรทัศน์ว่ามีเครื่องบินเอาสารอะไรสักอย่างไปโปรย แต่จริงๆ แล้วการทำฝนหลวงมีหลักการมากกว่านั้น รู้สึกประทับใจมากๆ โดยเฉพาะได้เห็นเครื่องบินที่ใช้ทำฝนหลวง และได้เห็นการทำงานของพี่ๆ นักบิน ทำให้รู้ว่าพวกพี่นักบินลำบากมากเพื่อพวกเรา ผมถามพี่นักบินว่าถ้าอยากเป็นนักบินอย่างพวกพี่ๆผมต้องทำยังไง คำตอบที่ได้รับมันกินใจผมมาก พี่เค้าตอบมาว่า “ไม่ยากเลยคุณสมบัติแรกของนักบินฝนหลวง แค่เป็นคนดีก็พอ” ” “น้องแมน” นายศักดารักษ์ ไชยธงยศ นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม กล่าวเสริมถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่านอกจากคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำงาน วิธีแก้ปัญหา การวิเคราะห์สิ่งต่างๆ จากวิทยากรที่จะทำให้งานของทีมพัฒนาขึ้นแล้ว ตนยังได้รู้ถึงวิธีมองปัญหาและการแก้ปัญหาจากหลายแง่หลายมุม และการได้รับรู้โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เห็นพระอัจฉริยภาพอีกอย่างหนึ่งของในหลวง ได้สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจด้วย “ผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมพระองค์ท่านถึงได้ทรงงานหนักเพื่อผู้อื่นได้ขนาดนี้ แล้วเราเองก็มี 2 มือ มีกำลังที่พอจะทำผลงานให้สำเร็จ เพื่อมาช่วยคนอื่นได้เหมือนกัน มันเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ฮึดสู้เพื่อทำงานของตัวเองให้สำเร็จ ตั้งใจว่าจะต้องกลับไปทำผลงานให้คนในสังคมได้ใช้ชีวิตที่ดีขึ้น” วันนี้แม้การเรียนรู้ในค่ายจะจบสิ้นลงแล้ว แต่ภารกิจที่ผู้เข้าร่วมค่ายทุกคนต้องทำต่อไปคือ การลงมือประดิษฐ์ผลงานของแต่ละทีมให้ดีที่สุด ระหว่างการทำงานหลายๆ ทีม อาจต้องเผชิญกับปัญหามากมายที่แวะเวียนมาท้าทายความแข็งแกร่งของหัวใจ บางทีมอาจรู้สึกท้อแท้ มีบางทีมที่อยากพัก แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีทีมใด หยุด หรือยอมแพ้ให้กับปัญหาต่างๆ เพราะทุกทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ล้วนได้รับการเติมเต็ม “พลัง” จากแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่...แรงบันดาลใจจากพ่อ มาช่วยกันลุ้นว่าทีมใดจะนำ “แรงบันดาลใจจากพ่อ” มาสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้ยอดเยี่ยม จนสามารถคว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาทไปครอบครองได้....

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ