กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ที่บังคับให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ขวบบริบูรณ์ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วันต่อมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคล และหลีกเลี่ยงบุคคลต่างด้าวมาแสวงผลประโยชน์ได้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของคนไทย
กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายนี้ เห็นว่าพรบ. ฉบับใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนให้รัฐให้ความคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลสัญชาติไทย ผู้มีเอกสารครบถ้วนได้อย่างทั่วถึง แต่ยังมีคนในประเทศอีกเกือบ 3 ล้านคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “คนไร้สัญชาติ” ทั้งที่เกิดในประเทศไทยอันเนื่องจาก ไม่มีใบเกิด ตกสำรวจทะเบียนราษฎร์ ฯลฯ และเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ คนเหล่านี้ก็ยังคงเป็นผู้ตกสำรวจ ไร้สิทธิต่างๆ ที่พึงได้ต่อไป เนื่องจาก ไม่มีเอกสารยืนยันสถานะของตัวเอง เพื่อทำบัตรประชาชน
นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย ซึ่งองค์กรที่ช่วยเหลือและดูแลเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสต่างๆ และไร้สัญชาติ ให้ความเห็นว่า การทำบัตรประชาชนสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่7 ปีขึ้นไป ถือเป็นการยืนยันสิทธิของเด็กไทยที่สามารถเข้ารับการบริการต่างๆ จากภาครัฐ แต่ยังมีเด็กจำนวนมากทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นเด็ก “ไร้สัญชาติ” ทั้งที่เกิดในประเทศไทย พ่อแม่มีสัญชาติไทย แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินขั้นตอนการแจ้งเกิด หรือเอกสารหายไปบ้าง กว่าเด็กจะรู้ตัวว่าตนเองขาดสิทธิไป ก็เข้าย่างสู่ในระดับการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาและส่งปัญหา คือ เด็กส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียน และมีหลายคนที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัวซึ่งงานส่วนใหญ่ก็จะได้รายได้ต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานจ้างมาก เพราะพวกเขาไม่มีบัตรจึงไม่มีทางเลือกในการหารายได้ที่ดีกว่า
“เด็กที่ยากจนหรือไร้สัญชาติบางคนทมีโอกาสเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็ไม่สามารถเข้าต่อได้ในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่มากเกินจนไม่สามารถแบกรับภาระไว้ ก็ต้องออกกลางคันเพื่อมาทำงานเต็มตัวแทน”
ไร้บัตร ไร้สิทธิเรียนฟรี
หลายปีที่ผ่านมา องค์การแพลนฯ ได้เข้าไปทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ไร้สัญชาติในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็น 1 ในจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่มีบุคคลไร้สัญชาติเกือบ 65,000 คน โดยอำเภอแม่ฟ้าหลวงเป็นอำเภอที่มีผู้ไร้สัญชาติมากที่สุด
เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้สามารถเรียนจบในระดับชั้นมัธยมศึกษา แต่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ รัฐบาลสนับสนุนเรื่องเรียนฟรีให้เฉพาะระดับมัธยมศึกษาให้กับเด็กทุกคน แต่ไม่ได้สนับสนุนในระดับมหาวิทยาลัย เพราะมีทุนการศึกษารองรับแต่เฉพาะให้กับเด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้สามารถเรียนต่อได้เช่นกันแต่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยตนเอง ซึ่งค่าเล่าเรียนต่อปีสำหรับคณะที่ถูกที่สุด คือคณะสังคมศาสตร์ ค่าเล่าเรียน12,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วก็ต้องหาหอพักอีก โดยอย่างต่ำก็ประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน และค่าอาหารอีกเดือนละ 3,000 บาท
“เมื่อคำนวณดูแล้ว พวกเขาต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนอย่างน้อย 70,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเทียบกับรายได้วันละ 100 บาทนั้น โอกาสเรื่องการเรียนก็ตัดไปได้เลย” นางมหากล่าว
เรียนดี แต่อดเรียนต่อ
นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 18 ปี จากอำเภอแม่ฟ้าหลวง เอเกิดในประเทศไทย พร้อมน้องสาวอีกสองคน ทั้งครอบครัวไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดกับทางอำเภอ ทำให้เอเรียนจบได้แค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งๆที่เรียนดีมากได้เกรดเฉลี่ยถึง 3.8 แต่ด้วยต้องการแบ่งเบาภาระทีบ้านและให้น้องอีกสองคนได้เรียนต่อ เอจึงตัดสินใจออกมาช่วยพ่อแม่เก็บใบชาได้รายได้เพียงวันละ 100 บาท เมื่อรวมรายได้กันทั้งสามคนต่อวันก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในบ้าน “อยากหารายได้ที่มากกว่านี้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีบัตร ขนาดจะสมัครเป็นแม่บ้านทำความสะอาดยังต่อมีบัตรประชาชนเลย เรียนต่อก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะบางคนแม้ไม่มีเงินแต่ก็ขอทุนได้ แต่เราไม่สามารถขอทุนได้เพราะไม่มีอะไรยืนยันว่าตัวเราเป็นคนไทย ตอนนี้น้องสาวก็ใกล้เรียนจบแล้วเช่นกัน ซึ่งเราก็ไม่สามารถส่งเขาเรียนได้ แต่ก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร” นอกจากหนทางที่เลือกไม่ได้ของเอแล้ว ยังต้องช่วยเหลือแม่ที่ติดหนี้จากการค้ำประกันของสหกรณ์ให้กับเพื่อนอีก 190,000 บาท ทุกวันนี้เอต้องทำงานชดใช้ให้กับทางสหกรณ์โดยมีค่าแรงเดือนละ 3,000 บาท โดยหักหนี้ให้กับทางสหกรณ์เดือนละ1,000 บาท ทุกเดือนจนกว่าจะครบ “แม่ไปค้ำประกันให้เพื่อนบ้าน ซึ่งปกติเราสามารถกู้ยืมเงินสหกรณ์เพื่อไปซื้อของทำการเกษตร แต่แม่โดนโกง จึงได้ไปขอร้องกับทางสหกรณ์ว่า ขอทำงานแลกการใช้หนี้แทน ทุกวันนี้เงินที่เหลือจากการหักหนี้ ก็นำให้แม่หมด ส่วนตัวเองก็เดินไปทำงานแทนวันละสี่กิโล จะได้ไม่ต้องเสียเงินค่ารถ”
ชีวิตที่หมิ่นเหม่
การใช้ชีวิตอย่างลำบากไม่เพียงแต่เกิดกับเอเท่านั้น ลักษมีหรือเจนเด็กสาววัย 17 ปีจากภาคเหนือเป็นอีกคนที่โดนปัญหาเหล่านี้และต้องหันเหชีวิตไปทำงานที่คาราโอเกะในตัวอำเภอแม่จันเพื่อแลกเงินเดือนละ 3,000 บาท โดยทำงานตั้งแต่วันหกโมงเย็นถึงตีสองทุกวัน “ช่วงแรกๆ ทำใจไม่ค่อยได้ เพราะจริงๆ ไม่อยากทำงานแบบนี้ แต่เราไม่มีทางเลือก เพราะต้องช่วยพ่อที่พิการ เราเป็นตัวหลักของครอบครัวก็ต้องทำ เพราะที่นี่เป็นที่เดียวที่รับคนไม่มีบัตร แต่ก็ต้องทนกับการทำงานดึกๆ ดื่นๆทุกวัน และบางครั้งต้องเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าชาย ซึ่งส่วนใหญ่ชอบลวนลาม บางทีกลับไปก็ร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร เราเห็นเพื่อนแต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียนกัน เราก็อยากไปเหมือนกัน อยากเรียนหนังสือเหมือนคนอื่นเขา แต่ก็ได้แค่มองอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเรามีบัตร เราก็สามารถจะเดินทางไปไหนก็ได้ หางานได้ง่ายขึ้น มีทางเลือกได้มากขึ้น เราอาจไปสมัครเรียนภาคค่ำก็ได้ ชีวิตเราก็น่าจะดีกว่านี้”
นางมหากล่าวว่า ชีวิตของเด็กเหล่านี้เสี่ยงในการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะเด็กส่วนใหญ่มักถูกหลอก และไม่มีทางเลือกในการดำเนิน ชีวิตซึ่งต้องขึ้นอยู่กับรายได้เป็นหลัก อีกทั้งปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พวกเขาไม่สามารถเข้ารับบริการจากภาครัฐได้ เพราะต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในราคาเต็ม ไม่สามารถใช้สิทธิจากทางภาครัฐได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะมองข้ามหรือปล่อยผ่านไปเพียงเพราะพวกเขาไม่ใช่คนไทย แต่ต้องถือว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย บางคนมาอยู่ประเทศไทยหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้อยู่ดี
“หากทางภาครัฐสามารถพิจารณาหรือช่วยเหลือในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิสำหรับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น การมีบัตรประชาชนให้พวกเขาได้แสดงสถานะของตัวเองก็เป็นความหวังอย่างหนึ่งที่ต่ออายุของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก”
รายละเอียดเพิ่มเติม
อภิรดี ชัปนพงศ์
ผู้จัดการงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์
องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย
โทร 6689 452 1611
อีเมล์ apiradee.chappanapong@plan-international.org หรือ jaao.apiradee@gmail.com