กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--โจนส์ แลง ลาซาลล์
นับจากอดีต กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นนับมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย สำหรับในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านหลังเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น โจนส์ แลง ลาซาลล์ พบว่า เหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมากนัก
นายยูกิโนริ กิชิ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าญี่ปุ่นของโจนส์ แลง ลาซาลล์กล่าวว่า “จากการสังเกตการณ์ของเราในช่วงเกือบสามเดือนที่ผ่านมา พบว่า เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคโตโฮกุของญี่ปุ่น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากนัก ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจอาคารสำนักงาน และธุรกิจโกดังสินค้าและโรงงานสำหรับขายหรือให้เช่า
เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่เข้าถล่มญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ได้ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน (กระบวนการจัดซื้อ การผลิต การจัดเก็บ เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดจำหน่วย และการขนส่ง) ในภูมิภาคโตโฮกุ ซึ่งเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยทั้งโรงงานจำนวนมากรวมถึงระบบซัพพลายเชน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีเพียงบางส่วนที่ได้รับความเสียหายในระดับที่ยังสามารถใช้งานได้ ไม่ก็อาจสามารถผลิตได้เต็มกำลัง เนื่องจากวิกฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุจิมะได้ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่น ทำให้โรงงานต่างๆ สามารถดำเนินการผลิตได้เพียง 3-4 วันต่อสัปดาห์
บริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ต้องอาศัยชิ้นส่วนนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตและประกอบรถยนต์ โดยบางบริษัทได้ชะลอแผนการขยายธุรกิจออกไป ส่งผลให้ธุรกรรมของบริษัทญี่ปุ่นบางรายในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ และการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในย่านอุตสาหกรรมของไทย เช่น อยุธยาและอีสเทิร์นซีบอร์ด มีการเลื่อนกำหนดออกไปในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่าน
อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกรรมการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่โจนส์ แลง ลาซาลล์ เป็นตัวแทนบริษัทญี่ปุ่นในการดำเนินการ พบว่า ไม่มีการยกเลิก นายกิชิ กล่าวว่า “โดยภาพรวมแล้ว บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคงมีการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการเข้ามาเปิดบริษัทใหม่ในไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย”
“อันที่จริง นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เราพบว่า บริษัทญี่ปุ่นต้องการใช้พื้นที่สำนักงานและอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่ผ่าน การชะลอแผนการขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นบางรายคาดว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่บริษัทผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในไทยได้ประกาศการกลับมาผลิตได้เต็มกำลังเมื่อเร็วๆ นี้”
“อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นยังคงมีการรายงานเพิ่มเติมออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น อาจยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าแนวโน้มที่เห็นในขณะนี้จะดำเนินเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ เรายังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์ต่อไป” นายกิชิกล่าว “เนื่องจากในขณะนี้ ผลกระทบจากวิกฤติการณ์โรงงานนิวเคลียร์ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยยังคงมีบริษัทผู้ผลิตหลายๆ รายในญี่ปุ่นยังคงไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ดังนั้น ในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นอาจพิจารณาย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ของเอเชียมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังได้รับบทเรียนจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่โตโฮกุและวิกฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งนี้ จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเป็นตัวเลือกหลักสำหรับบริษัทญี่ปุ่น เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุน”
“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการดึงดูดบริษัทจากญี่ปุ่น เนื่องจากมีความพร้อมในการรองรับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีระบบซัพพลายเชนที่ดี ระบบสาธารณูปโภคที่ดีและมีแรงงานที่มีทักษะฝีมืออย่างพอเพียง ความมั่นคงทางการเมืองเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่นี้ได้อย่างเต็มที่” นายกิชิสรุป
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
วินัย ใจทน 02 624 6540 winai.jaiton@ap.jll.com
www.joneslanglasalle.co.th