กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--อาร์ค เวิลดไวด์
ในท้องทะเลอันแสนกว้างใหญ่ สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ต่างแหวกว่ายร่ายเวทมนต์ให้โลกใต้สมุทรมีสีสันสดสวยดุจอาณาจักรแห่งใหม่อันแปลกตาของบรรดาสิ่งมีชีวิต แต่ความสวยงามนั้นเองที่ล่อตาล่อใจ ทำให้บรรดาปลาสวยงามในธรรมชาติได้ถูกคุกคามและมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย
ปัจจุบันความต้องการปลาทะเลเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อการบริโภค การค้า และการตกแต่งตู้ปลาสวยงาม ประชากรปลาทะเลจึงลดลงอย่างรวดเร็วและต้องการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เช่น กรณีปลาการ์ตูนซึ่งเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการนำมาเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน เนื่องจากเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์ชื่อดัง ทั้งยังมีสีสันสวยงาม ทำให้ปลาการ์ตูนถูกจับมาขายเป็นลำดับต้นๆ เพราะมีความต้องของตลาดสูง ทำให้ประชากรปลาการ์ตูนชนิดต่างๆ นั้นลดจำนวนลงอย่างมาก จนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หรือ กรณีตลาดการค้าขายม้าน้ำ ตลาดมีความต้องการม้าน้ำนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยาจีน ซึ่งมีการซื้อขายในตลาดค่อนข้างสูง แม้ว่าข้อตกลงระหว่างประเทศจะจัดม้าน้ำเข้าสู่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส ที่ว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ที่การซื้อขายในประเทศสามารถกระทำได้ แต่การค้าระหว่างประเทศต้องมีการควบคุม แต่ความจริงที่เป็นอยู่คือ ยังมีการซื้อขายม้าน้ำในตลาดมืดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กรณีปลาอมไข่ครีบยาว ซึ่งปัจจุบันถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เป็นปลาทะเลสวยงามที่ตลาดโลกมีความต้องการเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ
สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล กรุงเทพ อุทยานสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูพันธุ์ปลาทะเล จึงได้สนับสนุน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กรมประมง โดยการนำปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์มาจัดแสดงในอควาเรี่ยม เพื่อเป็นการช่วยเผยแพร่ความสำเร็จของทางศูนย์วิจัยฯ และเพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยลดปริมาณการจับปลาจากธรรมชาติ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้เริ่มศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามตั้งแต่ปี 2542 จนประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามชนิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน ตั้งแต่ต้นปี 2544 จนถึงปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนของไทยและต่างประเทศได้หลากหลายชนิด อาทิ ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดีย ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนแดง เป็นต้น นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ยังประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามชนิดอื่นๆ อีก อาทิ ม้ำน้ำหนาม ม้าน้ำเหลือง ม้าน้ำส้ม และ ปลาอมไข่ครีบยาว ซึ่งเป็นปลาทะเลสวยงามที่มีความต้องการสูงในการบริโภคและการเลี้ยง
ทั้งนี้เนื่องในโอกาสวันทะเลโลก หรือ World Ocean’s Day สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล กรุงเทพ จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลโดยการ สานต่อความมุ่งมั่นในการลดการจับสัตว์ทะเลจากธรรมชาติเพื่อนำมาแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ อนุญาตให้นำปลาทะเลสวยงามที่ทางศูนย์วิจัยฯ เพาะพันธุ์ได้มาจัดแสดงตามโซนต่างๆ ของสยาม โอเชี่ยน เวิร์ล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ผลงานการเพาะพันธุ์ของทางศูนย์วิจัยฯ โดยปลาทะเลสวยงามจากทางศูนย์วิจัยฯ ที่สยาม โอเชี่ยน เวิร์ลนำมาจัดแสดง ได้แก่ ปลาอมไข่ครีบยาว ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดีย ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนแดง ปลาหูช้าง ปลาจิ้มฟันจระเข้ท้องคม ปลากะรังหน้างอน ม้ำน้ำหนาม ม้าน้ำเหลือง และปลาเฉี่ยวหิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ของปลาทะเลสวยงามเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมช่วยปลูกจิตสำนึกให้สังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของสัตว์โลกใต้ท้องทะเล และเป็นการสนับสนุนผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยฯ ให้ประสบความสำเร็จต่อไป
ท่านใดที่สนใจอยากเรียนรู้และเพลิดเพลินกับการชมความสวยงามของปลาทะเลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ สามารถเข้าชมได้ที่ สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ในโซนจัดแสดงต่างๆ ซึ่งทางสยาม โอเชี่ยน เวิร์ลจะขึ้นป้ายแสดงความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ของปลาแต่ละชนิดไว้ที่หน้าตู้ เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้เก็บเกี่ยวความรู้และนำไปใช้ประโยชน์
พิเศษเพียงโชว์โลโก้ Breeding Life to the Ocean โดยการถ่ายภาพหรือตัดชิ้นส่วนมาแสดงที่จุดขายตั๋วรับส่วนลดค่าเข้าชมราคาพิเศษเพียง 250 บาททั้งเด็กและผู้ใหญ่ (จากผู้ใหญ่ 380 บาท เด็ก 280 บาท) ตั้งแต่วันที่ 8-30 มิถุนายนนี้ ณ สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ชั้น B1-B2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
(สำหรับท่านสื่อมวลชน) สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม : อาร์ค เวิลดไวด์ ประเทศไทย
รวีพลอย เนื่องจำนงค์ (ออย)/ โทร +66 2 684 5588
ณัฏฐภัทร จันทร์เปล่งแก้ว (อุ๊บ) โทร + 66 2 684 5731