JGSEE จำลองภาพฉายอนาคตเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 2, 2005 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--
JGSEE เตรียมจำลองภาพอนาคตพลังงานไทย หวังจุดประกายภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เห็นความสำคัญการคาดการณ์พลังงานในอนาคตเพื่อการใช้พลังงานอย่างยั่นยืน พร้อมเชิญผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่อง “Sustainable Energy Development in Thailand : Options and Tools” โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ให้ความรู้และแสดงวิสัยทัศน์ด้านการใช้พลังงานในระยะยาว โดยการจำลองภาพฉากตัวอย่างการใช้พลังงานที่ยั่งยืนในระดับโลก และแผนการใช้พลังงานในอนาคตของประเทศไทย เพื่อให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานในอนาคตได้
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ให้สัมภาษณ์ ปัจจุบันสถานการณ์พลังงานในโลกทุกวันนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะน้ำมัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันทวีค่ามากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เช่นในประเทศจีน และประเทศอินเดีย ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน อีกทั้งปริมาณพลังงานฟอสซิลที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำลังจะหมดไป โดยมีการคาดการณ์โดยเฉลี่ยว่าจะมีน้ำมันเหลือใช้ในโลกอีกเพียงแค่ 40 ปี และก๊าซธรรมชาติประมาณ 60 ปี การหาพลังงานทดแทนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้
“เนื่องจากประเทศไทยมีทางเลือกด้านพลังงานที่ค่อนข้างจำกัด จะทำอย่างไรให้เรามีพลังงานให้ใช้อย่างยั่งยืน คือมีใช้อย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีพลังงานทดแทนหลายชนิด พลังงานจากชีวมวล พลังงานจากน้ำ หรืออาจเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี และขึ้นอยู่กับราคาที่เป็นตัวแปร แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่คิดว่าประเทศไทยต้องเร่งทำอย่างรีบด่วนคือการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีพลังงานจะเหมาะกับประเทศไทยในระยะเวลาไหน โดยมีการคาดการณ์ทั้งด้านเวลา ราคา และวัตถุดิบประกอบกัน ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมันก็ได้มีการคาดการณ์การใช้พลังงานไว้ล่วงหน้าถึง 30-50 ปี ด้วยเพราะเยอรมันเห็นว่าพลังงานเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องมีการคาดการณ์สถานการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าในอนาคตเขาต้องพบกับปัญหาพลังงานอย่างไร และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร”
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับด้านพลังงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของการคาดการณ์พลังงานของประเทศไทยในอนาคต บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Sustainable Energy Development in Thailand : Options and Tools หรือ “การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ..ทางออก... และเครื่องมือของประเทศไทย” ขึ้น ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ระหว่างเวลา 8.30-17.30 น. ณ โรงแรมสยามซิตี้ ห้องกมลทิพย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพฉายอนาคต Mr.Uwe Fritsche ,Okoinstitut จาก Institute of Applied Ecology Germany ผู้ทำการศึกษาภาพฉายอนาคตของการใช้พลังงานชีวภาพให้กับรัฐบาลเยอรมัน เนื่องจากการจำลองภาพฉายในอนาคมีความสำคัญต่อการวางแผน และการพัฒนาพลังงานในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด มองเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี การเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในประเทศไทย อาทิ ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการติดตามประเมินผลกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากภาครัฐ ที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์ และใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมามองภาพฉายในอนาคตที่เกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศไทย แผนพลังงาน แผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และการแสดงภาพฉายอนาคตของการใช้ชีวมวลของประเทศไทย เป็นการสำรวจดูว่าประเทศไทยได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับการวางแผนระยะยาวไว้บ้าง ใช้เครื่องมืออะไร และการวางแผนระยะยาว และการใช้เครื่องมือในต่างประเทศโดยมีกรณีศึกษาของประเทศในทวีปยุโรป
สำหรับจุดมุ่งหมายในการจัดสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการใช้พลังงานในระยะยาว และให้เห็นประโยชน์ของการใช้เครื่องมือในการจำลองภาพฉายอนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจด้านพลังงาน ซึ่งงานในครั้งนี้เปิดโอกาสในบุคคลภายนอกโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนในการวางแผนนโยบายด้านพลังงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้ลงทุนด้านพลังงาน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยมีค่าลงทะเบียนสำหรับผู้เข้าร่วม 800 บาท หากท่านประสงค์จะลงทะเบียนโปรดกรอกแบบฟอร์ม และส่งรายละเอียดมาตามหมายเลยโทรสาร 0-2872-6978 หรือ E-mail : kulkarn_s@jgsee.kmutt.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2872-9014-5 ต่อ 4147 โทรสาร 0-2872-6978--จบ--

แท็ก thailand  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ