ปภ.เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนหลายพื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday March 7, 2007 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ปภ.
ในช่วงนี้ สภาพอากาศในหลายพื้นที่ของประเทศไทย มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ โดยมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมทะเลจีนใต้ ประเทศลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พาดผ่านประเทศไทยตอนบนส่งผลทำให้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกลงมาในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างและบ้านเรือนของประชาชน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก พายุฤดูร้อน ดังเช่นที่ จังหวัดพิจิตร บุรีรัมย์ กาญจนบุรี พายุฤดูร้อนได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน พืชไร่ได้รับความเสียหาย และสัตว์เลี้ยงได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ลูกเห็บขนาดเล็กตกติดต่อกันหลายวัน
พายุฤดูร้อน เป็นภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากฝนฟ้าคะนอง และลมแรง อากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศข้างเคียงไหลเข้ามาแทนที่ ไอน้ำกลั่นตัวเป็นเมฆ ทวีความสูงมากขึ้น มองเห็นฟ้าเล็บ ฟ้าร้อง และเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกได้ ถ้าหากตกต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันได้ นอกจากนี้สภาวะอากาศก่อนเกิดพายุ จะร้อนอบอ้าว และมีลมสงบ รวมทั้ง จะมีความชื้นในอากาศสูง เมฆจะก่อตัวเป็นรูปสีเทาเข้ม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำถึงวิธีการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับพายุฤดูร้อนให้กับประชาชน เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้ พายุฤดูร้อนไม่สามารถป้องกันได้แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อลดความรุนแรงของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้ โดยการเตรียมพร้อม ดังนี้
1. การเตรียมตัวก่อนเกิดพายุ
- จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินและยามจำเป็น เช่น วิทยุกระเป๋าหิ้ว เพื่อรับฟังข่าวสาร ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ฟืนแห้งเพื่อใช้หุงต้มอาหาร น้ำดื่มสะอาดและอาหารแห้ง ที่สามารถบริโภคได้ถึงสัปดาห์
- จัดเตรียมยารักษาโรค เครื่องมือปฐมพยาบาล และเครื่องอุปโภคที่จำเป็น เช่น รองเท้าบู๊ตสำหรับใส่ลุยน้ำ ถุงมือยาง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
- เตรียมขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้อื่นๆ ที่สำคัญ โดยจัดให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าพื้นบ้าน
- อพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัย และสร้างโรงเลี้ยงสัตว์พร้อมมุงหลังคา
เพื่อป้องกันฟ้าผ่าเวลาเกิดฝนฟ้าคะนอง รวมทั้ง ไม่แขวนกระดิ่งที่เป็นโลหะให้กับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว โคกระบือเพราะอาจเกิดฟ้าผ่าลงมาที่สัตว์เลี้ยงได้
- หมั่นดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ให้แข็งแรง เพราะอาจโดนลมพายุ พัดบ้านเรือนสร้างความเสียหายได้ เช่น พัดหลังคาบ้านเรือนหายไป หรือ อาจพัดป้ายโฆษณาหักโค่นล้มลงมาทับผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสร้างความเสียหายแต่ชีวิตและทรัพย์สินได้
- ผู้ที่อยู่ในอาคารสูง ควรติดตั้งสายล่อฟ้า เพื่อป้องกันเกิดฟ้าผ่า
- เกษตรกรควรหาไม้ค้ำยันกิ่งของต้นไม้ เพื่อป้องกันการถูกลมพายุพัดพืชสวน สร้างความเสียหาย
- ในเขตชุมชนที่มีป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ควรระมัดระวังในเรื่องของความคงทนและแข็งแรง เพราะอาจหักโค่นลงมาล้มทับผู้ที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้
2.ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
- ในขณะเกิดพายุ หากอยู่ในอาคารบ้านเรือนให้ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันลมหอบพัดบ้านเรือนเสียหาย และการอยู่ในรถก็จะช่วยให้ปลอดภัยได้วิธีหนึ่ง แต่ควรจอดรถให้อยู่ห่างไกลจากบริเวณที่น้ำอาจท่วมได้
- ควรหลีกเลี่ยงการยืนใต้ต้นไม้หรืออยู่ในกระท่อมที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และ หากอยู่กลางแจ้งควรหลบเข้าไปอยู่ในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคง แข็งแรง ไม่อยู่ในที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้สูง ใต้เสาไฟฟ้า หรือที่มีส่วนผสมของทองแดงซึ่งเป็นสื่อล่อฟ้าอยู่กับตัว เพราะอาจทำให้ท่านถูกฟ้าผ่าได้
- ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองขึ้น ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และไม่ใส่เครื่องประดับที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าได้ เช่น ทองคำ และเงิน และไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ และควรงดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว เพราะอาจเป็นสื่อที่ทำให้ฟ้าผ่าได้
- ประชาชนที่อยู่ในชายฝั่งทะเลและชาวประมง ไม่ควรนำเรือออกจากฝั่งในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการโดนพายุซัดออกจากฝั่ง และอาจทำให้เกิดเรือล่มได้
- ติดตามข่าว และการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่อาจเกิดพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในพื้นที่ จ.เชียงราย ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอยู่ในเส้นทางผ่านของลมพายุ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายได้ตลอดเวลา และระมัดระวังอันตรายจากภาวะลมแรงและฝนตกหนัก ดังนั้น ควรรับฟังการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือ ขนย้ายทรัพย์สินและอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย และหมั่นตรวจสอบเสาไฟและสายไฟทั้งในบริเวณบ้านและรอบบริเวณบ้านของตนเอง แม้การเกิดพายุฤดูร้อนเป็นภัยพิบัติที่เรามิสามารถหยุดยั้งหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ แต่การเตรียมความพร้อมและเรียนรู้วิธีการปฎิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมในช่วงเวลาที่เกิดพายุฤดูร้อน รวมทั้งการร่วมมือกันจากหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นก็จะสามารถลดความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ