นิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ : ศิลปะแห่งการสนทนา

ข่าวทั่วไป Wednesday June 8, 2011 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์: ศิลปะแห่งการสนทนา (Dialogic: The Art of Dialogues) โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 21 กรกฎาคม - 25 กันยายน 2554 ห้องนิทรรศการ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร “เราทุกคนต่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต่อเนื่องกันไป เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” เสฐียรโกเศศ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขอเชิญชมนิทรรศการชวนคิด ชวนสนทนา ชวนหาความหมายด้วยประเด็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เฉกเช่น “เกิด แก่ เจ็บ ตาย กิน ขี้ ปี้ นอน” มีปราชญ์ทางสังคมท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เพื่อรู้จักตัวเราเอง เราจำเป็นต้องรู้จักคนอื่น เพื่อรู้จักสังคมที่เป็นอยู่ เราต้องรู้จักสังคมอื่นๆ นอกจากสังคมของเรา” เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่ อาจเข้าใจ หรือรู้ในบางเรื่องอย่างครบถ้วนรอบด้าน หากเรามองจากมุมของตัวเราเองในโลกยุคใหม่ ‘ความรู้’ จึงไม่ใช่เพียง ‘ความจริง’ ที่สถิตนิ่งยุติอย่างเด็ดขาดบนหลักศิลาหรือหน้ากระดาษ แต่ทว่า มันได้แปรสภาพเป็น ‘ความเป็นไปได้’ ที่เคลื่อนไหวไปกับกระบวนการสังคม ผ่านบทสนทนา ความคิดเห็น และการแลกเปลี่ยนทั้งในพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ การอยู่ในโลกความรู้จึงอาจเรียกได้ว่า ‘ศิลปะ’ ในแง่ที่ทำให้เรามองเห็นว่า ‘ความรู้’ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งที่ทั่วไปเรียกว่า ‘องค์ความรู้’ เช่น ในแบบเรียน ตำราวิชาการ หนังสือคู่มือต่าง ๆ ฯลฯ เพราะในหลายครั้ง หลายครา เรื่องที่ดูไม่มีอะไรให้รู้ เรื่องที่ถูกห้ามไม่ให้รู้ และเรื่องที่ไม่ใช่ความรู้ก็นับเป็นความรู้ดุจเดียวกัน หาก “จงกล้าที่จะรู้” คือคติธรรมของยุคแห่งแสงสว่าง ที่ทำให้เราตั้งคำถามและใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้ “จงกล้าที่จะไม่รู้” ก็น่าจะเป็นคติธรรมของเรา เพื่อมองหา ‘ความรู้ใหม่ๆ’ จาก ‘ความไม่รู้’ นิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ จึงกำเนิดขึ้นเพื่อนำเสนอศิลปะในการแสวงหาความรู้ ผ่านการตั้งคำถาม ต่อการดำรงอยู่ของ ‘มนุษย์’ ที่ต่างก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย โดยระหว่างนั้นย่อมเลี่ยงไม่ได้ ที่เราจะกิน นอน ขับถ่าย และสืบพันธุ์ โดยแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งนั้นมาจากตัวตน และผลงานของเสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน ผู้เป็นสามัญชน นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ นักวรรณคดีศึกษา นักศาสนวิทยา นักเขียน นักแปล และนักกังขาคติที่ไม่ยอมจำนนต่อความสงสัย ชื่อของนิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ นั้นเป็นคำประดิษฐ์ใหม่ โดยการผนวกรวมคำสองคำคือ ‘ตรรกะ’ และ ‘สังสรรค์’ เข้าด้วยกัน ‘ตรรกะ’ มาจาก ตกฺก ในภาษาบาลี และ ตรฺก ในภาษาสันสกฤต หมายความถึง ความนึกคิด การตรึกตรอง ขณะที่ในปัจจุบัน ‘ตรรกะ’ มีความหมายเทียบเท่าได้กับ logic ในภาษาอังกฤษ อันหมายความถึง ความถูกต้องสอดพ้องตามหลักเหตุผล หรือหมายความถึง ‘วิชาตรรกวิทยา’ ‘สังสรรค์’ มีรากศัพท์มาจาก สํสรฺค ในภาษาสันสกฤต คำคำนี้หมายความถึง การพบปะ การมาข้องเกี่ยวกันระหว่างบุคคล (อาจขยายไปถึงความคิด หรือสิ่งต่างๆ) หากแปลตามตัวอักษร ตรรกะสังสรรค์ คือการพบกันระหว่างความนึกคิด ซึ่งก่อให้เกิดพื้นที่สนทนาให้กับหมวดหมู่ความรู้ ผ่านศิลปะในหลากหลายสาขา เป็นส่วนเติมเต็ม และเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณค่าของ ‘ความเป็นไปได้’ ซึ่งผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางปัญญา เป็นการสร้างกลไกในการส่งต่อทางความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ดำเนินงานโดยฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ภัณฑารักษ์รับเชิญ: กิตติพล สรัคคานนท์ ศิลปิน สาขาวรรณกรรม (เกิด) ล้อม เพ็งแก้ว (ผ่านคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) สาขาออกแบบ (แก่) ประชา สุวีรานนท์ สาขาทัศนศิลป์ (เจ็บ) สุรสีห์ กุศลวงศ์ สาขาศิลปะการแสดง (ตาย) ภัทรสุดา อนุมานราชธน สาขาสื่อผสม (กิน) มหาสมุทร บุณยรักษ์ และ เศรษฐวัตร อุทธา สาขาดนตรี (ขี้) ตุล ไวฑูรเกียรติ สาขาภาพยนตร์ (ปี้) ธัญสก พันสิทธิวรกุล สาขาสถาปัตยกรรม (นอน) สิงห์ อินทรชูโต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02 214 6630 โทรสาร 02 214 6639 email: prbacc@hotmail.com website: www.bacc.or.th facebook: www.facebook.com/baccpage

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ