กทม.จัดพิธีบวงสรวงบูรณะเสาชิงช้า

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2005 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 48 เวลา 11.15-13.30 น.) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้า ได้จัดพิธีบวงสรวงบูรณะเสาชิงช้าขึ้น โดย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธานประกอบพิธี ด้วยการนำคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน กล่าวแสดงความจำนงการทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอซ่อมเสาชิงช้า จากนั้นไปกราบพระศรีศากยมุนี ณ พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร และบูชาพระอิศวร พระพิฆเนศ และพระนารายณ์ ณ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ก่อนจะทำพิธีจุดธูปเทียนบูชาเทพ เทวดา ครู อาจารย์ ซึ่งภายหลังจากพระราชครูวามเทพมุนี กล่าวนำอธิษฐานขอซ่อมแซมบูรณะเสาชิงช้า และสวดบูชาฤกษ์ เทพ เทวดา ครู อาจารย์ และเจิมเครื่องมือช่างที่จะใช้ในการซ่อมแซมเสาชิงช้า เช่น กบไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า สี ฆ้อน สิ่ว เป็นต้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำคณะข้าราชการโปรยข้าวตอกตอกไม้ที่เครื่องบวงสรวง ประพรมน้ำอบน้ำปรุงที่ตัวเสา เป็นการอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณตามแบบพิธีพราหมณ์ และขูดสีที่ฐานเสาชิงช้าทั้งสองข้างเป็นปฐมฤกษ์ในการซ่อมแซมบูรณะต่อไป
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า พิธีบรวงสรวงบูรณะเสาชิงช้าในครั้งนี้ เป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์อย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมราชประเพณี เพื่อจะดำเนินการซ่อมแซมเสาชิงช้าเป็นการชั่วคราวก่อน ให้เสาชิงช้าอยู่ในสภาพที่มั่นคงพอที่ทานต่อแรงลม แรงฝนในช่วงฤดูฝนนี้ ระหว่างที่รอการจัดหาไม้มงคลมาบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีการประกอบพิธีบรวงสรวงอีกครั้ง รวมทั้งเมื่อบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะจัดพิธีสมโภชเสาชิงช้า เป็นการบูชาเทพ เทวดา บรรพบุรุษ ซึ่งตามคติโบราณถือเป็นครูอาจารย์ที่ให้ความรู้ด้านงานช่างในการจัดสร้างเสาชิงช้าให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง
สำหรับการซ่อมแซมเป็นการชั่วคราวเร่งด่วนในครั้งนี้จะทำการดามช่องรอยต่อเสาที่ผุโดยหุ้มด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีความเหนียวทนทนและแข็งแกร่ง แล้วทาสีให้กลมกลืนกับเนื้อไม้ ส่วนการบูรณะเป็นการถาวรนั้น จะดำเนินการจัดหาไม้ที่เหมาะสม ได้แก่ ไม้สักทอง ไม้ตะเคียนทอง ซึ่งเป็นไม้มงคลและเนื้อแข็งความยาว 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซ.ม. มาแทนเสาไม้เดิม สำหรับเสาชิงช้าเก่านั้นถือเป็นโบราณวัตถุ เมื่อถอดออกแล้ว กรุงเทพมหานครจะจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
อนึ่ง เสาชิงช้าเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2327 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 มีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังไม้ 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางจากฐานกลม 10.50 เมตร เสาชิงช้าได้ผ่านการบูรณะมา 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ครั้งแรก พ.ศ. 2463 ครั้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. 2513 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 35 ปีแล้ว จึงชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ โดยบริเวณรอยต่อเสาชิงช้าผุ และชำรุด สมควรได้รับการซ่อมแซมบูรณะให้มีสภาพสมบูรณ์ มั่นคง แข็งแรง เพื่อสืบสานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีการพระราชพิธีตรียัมปวาย
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกทม.ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้าขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ ขนบธรรมเนียมประเพณี และพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ เลขาธิการสำนักพระราชวัง พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ ศ.พิเศษ ทองต่อกล้วยไม้ ณ อยุธยา รศ.ธงทอง จันทรางศุ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร กรมป่าไม้ และสภาวัฒนธรรมเขตพระนคร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การบูรณะมีความถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีการทางศาสนา รวมทั้งการจัดหาวัสดุที่เหมาะสมในการบูรณะเสาชิงช้า และบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ