กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี พ.ศ.2554 ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2554 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้การจัดการแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่เป็นไปอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพทั้งภาวะปกติและภาวะที่เกิดการระบาด
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้ยากต่อการควบคุมการแพร่ระบาด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง ควบคุมดูแล และป้องกันอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้การจัดการแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่เป็นไปอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดการแพร่ระบาด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี พ.ศ.2554 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในรูปแบบการเสวนา การบรรยายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นวิทยากรในการจัดประชุมเสวนา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการฝึกซ้อมแผนฯ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้มีการเสวนาในหัวข้อ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มและภัยคุกคามด้านโรคระบาดอุบัติใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์ในการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเป็นกรอบในการวางแผนและกำหนดแนวทางปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่