กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
ประเด็น : ฝนตก ลื่น…ล้ม ผู้หญิงเสี่ยงกระดูกหักกว่าผู้ชาย
โดย : คุณดรุณี แก้วมะไฟ
พยาบาลวิชาชีพ แผนกผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
ฝนตก ลื่น…ล้ม ผู้หญิงเสี่ยงกระดูกหักกว่าผู้ชาย
หลังฝนตกจะมีพื้นที่เปียก แฉะ ทำให้บริเวณที่ลื่นง่ายเกิดเพิ่มขึ้นภายในบ้าน เช่น สวน ระเบียง หน้าบ้าน ลานหลังบ้าน ฯลฯ การลื่นล้มอาจเป็นเรื่องปกติในวัยหนุ่มสาว แต่สำหรับผู้สูงวัยหญิงแล้ว เสี่ยงต่อกระดูกหัก, ร้าว ในประเทศไทยพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการล้มเกิดขึ้นในบ้าน และผู้สูงอายุหญิงล้มมากกว่าผู้สูงอายุชายถึง 2 เท่า ผู้หญิงเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักมากกว่าชายถึง 3 เท่า โดยเฉพาะผู้ที่พบว่ามีประวัติกระดูกสะโพกหักในครอบครัว ผอม, โครงร่างเล็ก หรือไม่ออกกำลังกาย แคลเซียมไม่เพียงพอ และไม่ค่อยสัมผัสกับแดดอ่อน ๆ
พบผู้สูงอายุในประเทศอังกฤษที่ลื่นล้มจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมีมากถึง 700,000 คน 1 ปี และยังพบว่าการลื่นล้มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี
คุณดรุณี แก้วมะไฟ พยาบาลวิชาชีพ แผนกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า “ การล้มในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป กระดูกส่วนที่หักและพบได้บ่อยคือ กระดูกข้อมือเนื่องจากเวลาล้มมักจะเอามือค้ำไว้ บริเวณที่พบรองลงมาคือกระดูกแขน และ 20 เปอร์เซ็นต์พบว่ากระดูกสะโพกหัก แตก หรือร้าวแม้จะเป็นการล้มเพียงเบา ๆ เมื่อกระดูกสะโพกแตก หรือร้าวทำให้ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2 อาทิตย์โดยเฉลี่ย และยังต้องนอนพักฟื้นอยู่บนเตียงเป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น แผลกดทับ ฯลฯ
แม้การล้มในครั้งนั้นจะไม่ส่งผลให้บาดเจ็บ แต่ก็ทำให้ผู้สูงอายุเสียความมั่นใจในการยืน เดิน ทำให้ต้องพึ่งพาลูกหลาน หรือคนใกล้ชิดในการใช้ชีวิตประจำวัน ”
เพราะอะไรอายุมากขึ้นถึงลื่นล้มง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว ?
1. ปัญหาทางสายตา
2. ด้านการทรงตัว น้ำในหู ไม่เท่ากัน หูชั้นในที่ควบคุมการส่งตัวเสื่อมทำให้เกิดอาการบ้านหมุน
3. ข้อต่าง ๆ เริ่มเสื่อม เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ฯลฯ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้น้อย และช้าลง
4. กล้ามเนื้อขาดความแข็งแรง
สิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม
ภายในบ้านมักจะมีสิ่งของที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม เช่น พื้นที่มีพื้นผิวลื่นอย่างพื้นซีเมนต์ขัดมันบริเวณลานหลังบ้าน, ห้องน้ำที่มักชื้นแฉะ หรือมีน้ำขังใน สวนยามเช้าช่วงที่น้ำค้างยังเกาะบนยอดหญ้า อิฐและศิลาแลงที่มีตะไคร่, หญ้ามอสเกาะ รวมทั้งสายไฟที่โยงไปมาเกะกะในบ้าน บริเวณทางเดินที่แสงไฟสว่างไม่เพียงพอ หรือบันไดที่มีพื้นผิวลื่น เช่น ซีเมนต์ขัด ไม้เคลือบยูรีเทน หรือไม่มีราวบันไดให้เกาะ
เวลาไหนที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม ?
ขณะฝนตก หรือหลังฝนตก, เช้ามืดหลังน้ำค้างลง, เวลากลางคืนหรือใกล้ค่ำ
ป้องกันการลื่นล้มอย่างไร ?
รองเท้า
ควรสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดี ทั้งความกว้าง และความยาวและมีสายรัด และหุ้มส้นเพื่อให้กระชับเท้า ส้นรองเท้าไม่ควรสูงเกิน 1.50 นิ้ว รองเท้าหนังสัตว์จะดีกว่ารองเท้ายางเนื่องจากมีความยืดหยุ่น เลือกรองเท้าที่มีพื้นเป็นยางชนิดที่เกาะพื้นได้ดี และมีลายที่ช่วยให้ยึดเกาะได้ดีใต้พื้นรองเท้า
การจัดสภาพแวดล้อม
1. มีราวบันได หรือราวตามผนังเพื่อให้ผู้สูงอายุเกาะขณะเดิน
2. หากันสาดมาบังบริเวณที่ฝนสาด
3. ระวังให้พื้นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น แห้งอยู่เสมอ
4. เลือกวัสดุที่มีพื้นผิวสาก ไม่ลื่น แต่ไม่ขรุขระต่างระดับจนเกินไปเพราะอาจทำให้เดินสะดุดได้
5. สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลุกยืน นั่งได้สะดวก ควรจัดของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋ายา กระเป๋าเงิน ของกิน กาแฟ รีโมททีวี ฯลฯ ในบริเวณที่ท่านเอื้อมมือถึง
การป้องกันตัวเอง
1. ถ้าผู้สูงอายุต้องออกไปเดินหลังฝนตก หรือบริเวณที่พื้นเปียก หรือลื่น ควรมีคนช่วยพยุง
2. ผู้สูงอายุควรระวังเรื่องการเดิน เช่น เดินระวังมากขึ้น เดินให้ช้าลง
คุณดรุณีกล่าวปิดท้ายว่า “ การลื่นล้มเป็นสิ่งที่ควรต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว ควรต้องระวังเรื่องความความเปียก และลื่นเพิ่มขึ้นนะคะ ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023994259-63 แผนกผู้สูงอายุ รพ.กล้วยน้ำไท