กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สสส.
สสส.จับมือเครือข่ายเยาวชนเกสรลำพู ประชาคมบางลำพู จัดมหกรรม “ก้าว(เดิน)เล็กๆ ของเด็กบางลำพู” สำแดงพลังสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยสองมือเด็กในชุมชน หวังดึงของดีที่มีในชุมชนสานสัมพันธ์เป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมต่อยอดไปสู่การจัดถนนเด็กเดินที่สามพระยาตุลาคมนี้
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนเกสรลำพู ประชาคมบางลำพู โดยการสนับสนุนจากแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. ร่วมจัดงาน มหกรรม “ก้าว(เดิน)เล็กๆ ของเด็กบางลำพู” เพื่อพัฒนาเป็นถนนเด็กเดินเต็มรูปแบบสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นที่ถนนสิบสามห้าง บางลำพู ของ โดยภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ชุมชนบางลำพูเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต จิตวิญญาณ การดึงเอาอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนมาแสดงผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน แล้วนำเอาสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนมาเชื่อมโยงหรือหนุนเสริมกับกระบวนการพัฒนาเยาวชน สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน เป็นการบูรณาการระหว่างกันทั้ง ดนตรี ละคร สื่อพื้นบ้าน สื่อทัศนศิลป์ สื่อร่วมสมัย สามารถก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตปัญญาต่อไปได้
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า สำหรับ มหกรรม “ก้าว(เดิน)เล็กๆ ของเด็กบางลำพู” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น่าสนใจเพราะทุกกิจกรรมล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเด็กและเยาวชนในชุมชุนเป็นหลัก ทั้งยังมีมัคคุเทศก์น้อยนำเดินชมประวัติศาสตร์ชุมชนบางลำพู 4 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกเริ่มจากสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เข้าสู่ชุมชนวัดสังเวช ชมคลองประวัติศาสตร์ ชมวัดสังเวช และบ้านดนตรีไทย(บ้านดุริยประณีต) เส้นทางที่ 2 แรกเริ่มจากสวนสันติชัยปราการ เข้าสู่ชุมชนวัดสามพระยา ชมวัดสามพระยา ตามด้วยการทำและชิมข้าวต้มน้ำวุ้น และบ้านใบลาน เส้นทางที่ 3 แรกเริ่มจากสวนสันติชัยปราการ เข้าชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ ชมการทำชุดลิเก ชมบ้านเก่า และเรียนรู้วิธีการทำ??-ปักชุดลิเก เส้นทางสุดท้าย แรกเริ่มจากสวนสันติชัยปราการ เข้าชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เดินตรอกแคบๆ ที่มีความกว้างเท่าคนแค่ 1 คนเท่านั้น ตามด้วยการเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นชุมชนมุสลิม 2 ชุมชนในเขตพระนคร และชิมอาหารของชาวมุสลิม เป็นต้น
“สำหรับการแสดงและภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีความโดดเด่นในตัวเอง อย่างการโชว์สาธิต การทำ-ห่อข้าวต้มน้ำวุ้นที่เป็นของดีชุมชนวัดสามพระยาโดยมีเด็กๆ ในชุมชนเป็นคนสาธิต การโชว์สาธิตการทำขนมอิสลามที่เป็นของดีชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ อีกทั้งยังมีกิจกรรมเชิงบูรณาการที่นำวัฒนธรรมสมัยเก่าและสมัยใหม่มาใช้ด้วยกัน, ชมดนตรี ศิลปะ ที่มีการผสมผสานกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและนอกชุมชนจนเกิดมิติใหม่ของกิจกรรมที่สร้างสรรค์ชุมชนและเกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีการแสดงมวยไทย ของดีจากชุมชนสามพระยา ที่มีทั้งการโชว์จากเยาวชนแชมป์โลกหญิงรุ่นเบนตั้มเวท สภามวยโลก WBC, การแสดงลูกทุ่ง-สตริงจากสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม, การแสดงเครื่องเคาะ Percussion จากเยาวชนจอมทองและเยาวชนบางลำพู และอื่นๆ การแสดงดนตรีจากวง สะเดาะเคราะห์ วงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนในชุมชน การแสดง Mix & Match B-Boy ดนตรี รำไทย ศิลปะอินดี้แบบวัฒนธรรมไทย และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแต่มีเยาวชนลูกหลานคนในชุมชนเป็นผู้แสดงทั้งสิ้น” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าว
ทั้งนี้นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า นอกจากกิจกรรมที่เยาวชนในชุมชนได้ขับเคลื่อนกันเองในครั้งนี้แล้ว ยังมีเยาวชนคนเก่งที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายในโครงการประกวดมิวสิควีดิโอรณรงค์งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ RANGER NO-L มาลงพื้นที่ร่วมศึกษาศิลปวัฒนธรรมชุมชนสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชุมชนบางลำพู เพื่อหาไอเดียนำไปผลิตผลงานของตนเองและพบศิลปินเพลงโจทย์ อาทิ ต้าร์ พาราด็อกซ์ และสาวมาดเมกกะแดนซ์ ภายในงานอีกด้วย
ซึ่งนางสาวปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู กล่าวว่า งาน มหกรรม “ก้าว(เดิน)เล็กๆ ของเด็กบางลำพู” เป็นเสมือนเวทีที่ทำให้เด็กได้รู้จักรากเหง้าชุมชนตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักของดีของเด่นที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นการฝึกฝนให้เด็กในชุมชนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ “จิตอาสา” ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคมอย่างเห็นได้ชัด ในอนาคตอยากให้มีการพัฒนาเป็นเวทีหรือถนนเด็กเดินประจำของชุมชน และสะสมผลงาน การพัฒนาไปสู่การเกิดเป็นถนนเด็กเดิน เสาร์-อาทิตย์ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มต่อยอด ไปสู่ความยั่งยืนได้
“นอกจากนี้การจัด ยังทำให้คนในชุมชนเกิดการรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาคมบางลำพู ประชาคมวิสุทธิกษัติรย์ ประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมบางลำพู ประชาคมถนนข้าวสาร ประชาคมร้านค้าผู้ประกอบการถนนข้าวสาร ชุมชนบวรรังสี ชุมชนตรอกข้าวสาร ชุมชนรอบตลาดยอด ตลาดนานา และชุมชนในเขตพระนครอีกมากมายมาร่วมกันทำงาน ซึ่งนี่เป็นมิติที่ดีที่จะนำไปสู่การมีชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่านี่จะเป็นประตูที่จะทำให้การเกิดถนนเด็กเดินที่บางลำพูเกิดเป็นรูปธรรมเร็วขึ้นก็ได้” นางสาวปานทิพย์ ลิกขะไชย กล่าว