กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
กรมส่งออกชี้กรณีเชื้ออีโคไลเป็นตัวอย่างที่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารต้องใส่ใจคุณภาพ พร้อมสร้างระบบโลจิสติกส์ ทูตพาณิชย์อังกฤษเผยมีการนำเข้าผักจากยุโรปมาไทย แต่ไม่รู้ปริมาณที่ชัดเจน ส่วนจะปลอดเชื้ออีโคไลต้องดักตรวจเข้ม
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงกรณีพืชผักที่ปลูกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู) ที่เป็นต้นเหตุของการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลที่ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต 25 คน และทำให้มีผู้ล้มป่วยกว่า 2,325 คน ใน 14 ประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศห้ามนำเข้าผักและผลไม้จากอียูว่า ในขณะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากพืช สถานที่ไหน และกระบวนการใดทำให้มีการติดเชื้อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคพืชผักและผลไม้ระมัดระวังมากขึ้น
“พร้อมกันนี้เร่งหาต้นตอ และมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารของกลุ่มอียู เพื่อให้แน่ใจว่าการแจ้งเตือนต่างๆ ของทางกลุ่มอียูนั้น ตั้งอยู่บนหลักการและการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก่อนจะเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป เพราะล่าสุดยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่า ต้นตอมากจากแตงกวาหรือ ถั่วงอก”นางนันทวัลย์ กล่าว
กรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกต้องใส่ใจ และเตรียมความพร้อมเสมอ ไม่เช่นนั้น อาจทำให้เสียเปรียบในการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ที่อาจจะหวังใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น ส่งผลให้การส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้วทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้จำเป็นต้องสร้างระบบกระจายสินค้าตั้งแต่ก่อนปลูก ระหว่างปลูก ขนส่ง การผลิต บรรจุและการเก็บรักษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาหารส่งออก เพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการค้ากับสินค้าอาหารของไทย
นายอดิสัย ธรรมคุปต์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษรายงานผลกระทบที่อาจจะมีกับไทยว่า ในปี 2553 ไทยนำเข้าพืชผักจากอังกฤษมีมูลค่า 56.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสินค้า 6 ประเภท คือ ธัญพืชและแป้ง, เมล็ดพืชน้ำมันและน้ำมันพืช,ผลิตภัณฑ์ยาง , โกโก้, พืชที่มีกลิ่นหอม และ พืชผักอื่นๆ โดยสินค้าพืชผักอื่นๆ นี้ ไทยนำเข้าจากอังกฤษคิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
“การระบาดของโรคจากเชื้ออีโคไลในภูมิภาคยุโรปดังกล่าว จะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภค และผู้ผลิต โดยไทยนำเข้าสินค้าในประเภทพืชผักสด (พิกัดศุลกากร H.S. 07 : พืชผักรวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้)มานั้น สินค้าส่วนใหญ่ใช้เป็นสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรรม ในส่วนของสินค้าที่มีการนำเข้าเพื่อการบริโภคจะอยู่ในรายการพืชผักอื่นๆ ในกลุ่มตลาดพืชผักพิเศษที่นำเข้าจากภูมิภาคยุโรป และสินค้าที่นำเข้าอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าวได้”นายอดิสัย กล่าว
ทั้งนี้สคร.มีความเห็นว่า ขณะที่อียูยังไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงสาเหตุของการระบาดของโรคได้ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่จะเดินทางไปติดต่อธุรกิจการค้าในภูมิภาคยุโรป ควรระมัดระวัง เรื่องสุขอนามัย และ การแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะการรับประทานอาหารประเภทผักสด โดยไม่ได้ปรุงให้สุกก่อน เช่น ผักสลัดสด แตงกวา มะเขือเทศ กระหล่ำปลี ผักกาด เป็นต้น หรือหากประสงค์จะบริโภคผักดังกล่าวควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว
สำหรับอังกฤษ สถิติการเดินทางระหว่างอังกฤษและเยอรมันนีถึงประมาณ 30,000 คนต่อวัน ซึ่งทางการเกรงว่า เชื้ออาจจะระบาดไปยังอังกฤษได้ เนื่องจากขณะนี้พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวแล้วจำนวน 7 คนโดย 3 คนเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่เชื้อโรคดังกล่าวยังไม่เข้าสู่วงจรอาหารของประเทศ และห้างซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ยังคงมีการนำเข้าผักสดที่ผลิตจากเยอรมันนีอยู่ เช่น ผักกาด กระหล่ำปลี และข้าวโพดหวาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการติดตามสถานการณ์จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด หากการระบาดของโรคยังมีความรุนแรงและยังไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างเด็ดขาด และอียูยังไม่สามารถหาต้นเหตุ-ที่มาของเชื้ออีโคไล การระบาดของโรคในครั้งนี้ได้ นอกจากนี้ประเด็นการแพร่ระบาดของโรคจากยุโรปไปยังภูมิภาคอื่น หรือ การระบาดมาถึงไทยได้ยังต้องเฝ้าระวัง อาทิ จากผู้ที่เดินทางไปจากยุโรปมาท่องเที่ยวประเทศไทย หรือ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยุโรปโดยเฉพาะไปเขตประเทศเยอรมันนี รวมทั้งต้องจับตามมองและเตรียมมาตรการที่ป้องกันสินค้าพืชผักสดที่ประเทศไทยนำเข้าจากอียู ซึ่งอาจจะเป็นพาหนะโรคมาสู่ไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าสถานการณ์ส่งออกผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ตามคาดการณ์ปี 2554 สินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่า 826.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% โดย 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2554) มีปริมาณ 102,205 ตัน คิดเป็นมูลค่า200.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกทั้งหมด
ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ จีน มูลค่า 39.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45% ญี่ปุ่น มูลค่า32.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.87%อินโดนีเซีย มูลค่า 27.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 330.44% ฮ่องกง มูลค่า25.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.16%และสหรัฐ มูลค่า 11.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.55%