ปภ.แนะวิธีรับมือภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Monday February 5, 2007 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ปภ.
สถานการณ์ภัยแล้งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยเป็นประจำทุกปี จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้งของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 มีพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง 2 จังหวัด ซึ่งแม้ปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำฝนมากก็ตามแต่ฤดูฝนสิ้นสุดเร็วกว่าทุกปี ทำให้เกิดปัญหา ความแห้งแล้งอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำถึงวิธีการรับมือและเผชิญกับภัยแล้งที่อาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกันและรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเราสามารถลดความรุนแรงของสถานการณ์แล้งได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันปฎิบัติดังนี้ คือ
ภาคประชาชน สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้โดยการปฏิบัติดังนี้
1. ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด วิธีการประหยัดน้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำและการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ สามารถทำได้โดยการไม่เปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลา เมื่อล้างหน้า ล้างมือ แปรงฟัน โกนหนวด ถูสบู่ล้างจาน ควรปิดก๊อกน้ำก่อน และค่อยเปิดขณะที่ชะล้างหรือทำความสะอาด ขณะรดน้ำต้นไม้ควรใช้สปริงเกอร์ — ฝักบัว รดน้ำต้นไม้แทนการฉีดด้วยสายยาง ใช้ถังน้ำ—ฟองน้ำล้างรถ ไม่ใช้สายยางและเปิดน้ำไหลตลอดเพราะจะใช้น้ำมากกว่าที่จำเป็นถึง 4 เท่า ควรปิดน้ำขณะล้างรถ แล้วค่อยเปิดน้ำชะล้างทีเดียว การใช้ภาชนะล้างพืชผักและผลไม้ ไม่ควรเปิดน้ำไหลตลอดเพราะจะเปลืองน้ำกว่าที่จำเป็นถึง 1 เท่า ควรหาภาชนะใส่ขณะล้าง และนำน้ำที่ใช้ล้างผักแล้วไปรดต้นไม้ นอกจากนี้ ไม่รดน้ำต้นไม้ตอนแดดจัด เพราะอาจจะทำให้มีการระเหยของน้ำโดยที่ต้นไม้และดินไม่อาจซับน้ำไว้
ได้ และควรรดน้ำต้นไม้ในเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น สำหรับน้ำดื่มที่เหลือจากการดื่มให้ใช้รถน้ำต้นไม้ ชำระพื้นผิว หรือทำความสะอาดสิ่งต่างๆ แทน และควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อกของชักโครก ฝักบัว ก๊อก และหัวฉีดน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณการไหลของน้ำ
2.ตรวจสอบจุดรั่วซึมของชักโครก หรือท่อน้ำภายในบ้านเรือน โดยเริ่มจากการตรวจสอบจุดรั่วซึมของชักโครกโดยหยดสีผสมอาหารลงในถังพักน้ำ แล้วสังเกตดูที่สีของน้ำที่ไหลลงโถสุขภัณฑ์หากพบว่าน้ำสีไหลลงมา
โดยไม่ได้กดชักโครก แสดงว่า มีการรั่วซึม ให้รีบจัดการซ่อมแซมทันที รวมทั้งไม่ทิ้งเศษอาหาร กระดาษ สารเคมีต่างๆ ลงในชักโครก เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำในปริมาณมากจากการกดชักโครกเพื่อไล่สิ่งของดังกล่าวลงท่อ และควรตรวจสอบการรั่วของท่อน้ำภายในบ้านด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวในช่วงเวลาที่ไม่มีใครใช้น้ำระยะหนึ่งและควรจดหมายเลขมาตรวัดน้ำไว้ หากพบว่าเลขมาตรวัดเคลื่อนที่โดยที่ยังไม่มีใครเปิดน้ำแสดงว่ามีการรั่ว และถ้าพบว่า เลขมาตรวัดเปลี่ยนแปลง โดยที่ยังไม่มีการเปิดใช้ แสดงว่าเกิดการรั่วไหลของน้ำ ให้รีบจัดการซ่อมแซม
3 ร่วมกันซ่อมแซม และทำความสะอาดภาชนะกักเก็บน้ำ โดยทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันซ่อมแซมทำความสะอาดภาชนะกักเก็บน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาวะขาดแคลนน้ำ หากมีบ่อบาดาลควรร่วมกันซ่อมเป่าล้างบ่อบาดาลให้พร้อมสำหรับการใช้งาน และควรจัดหาภาชนะในการบรรจุน้ำ
เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และสร้างภาชนะเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาวะที่ขาดแคลนน้ำ
สำหรับเกษตรกร ควรร่วมกันซ่อมแซมคูน้ำในพื้นที่การเกษตรโดยนำกระสอบทรายมาเสริมคันกั้นน้ำ เพื่อให้การไหลรั่วซึมของน้ำลดน้อยลง ตลอดจนตรวจสอบรูรั่ว รอยแตก หากพบ ต้องรีบซ่อมแซมแก้ไขปิดรูหรือช่องโหว่
โดยด่วน นอกจากนี้ ให้วางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ โดยการเลือกการปลูกพืชไร่อายุสั้น ที่ใช้น้ำน้อย และเป็นพืชคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและสงวนน้ำในดินไว้ให้นานที่สุด เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ถั่วลิสง ลดพื้นที่การเพาะปลูกพืชบางชนิดที่ต้องใช้น้ำมากในช่วงฤดูแล้ง เช่น ข้าวนาปรัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นข้าวเจริญเติบโต
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สามารถร่วมกันประหยัดน้ำได้โดยสำรวจตรวจสอบและทำการเปลี่ยนหรือซ่อมแซม ปั้มน้ำและระบบการจ่ายน้ำให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ปกติ รวมทั้งติดตามประเมินการใช้น้ำภายในโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาการรั่วไหลหากพบว่ามีจุดที่ชำรุดควรรีบซ่อมแซมแก้ไขทันที และเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ หรือชนิดมีประสิทธิภาพสูง เช่น ชักโครกประหยัดน้ำ ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและทันสมัย เพื่อเป็นการลดความสูญเสียน้ำและยังประหยัดน้ำ และร่วมกันจัดกิจกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด และเผยแพร่ความรู้ให้พนักงาน ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์น้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับภาครัฐ ควรบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและยุติธรรม และร่วมกันขุดลอกคูคลองลำน้ำ/ลำห้วยที่ตื้นเขิน ขุดลอกลำน้ำ ลำห้วย บ่อน้ำ สระน้ำ หนองน้ำที่ตื้นเขิน ตลอดจนขุดลอกคลองระบายน้ำเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำหรือแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์
สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง คือ จะต้องได้รับความร่วมมือจาก 3 ส่วน ด้วยกัน คือ ราชการกับราชการ ราชการกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน และนอกจากจะร่วมกันประหยัดน้ำ จัดเตรียมความพร้อมของภาชนะกักเก็บน้ำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ใช่เฉพาะในช่วงหน้าแล้งนี้เท่านั้น แต่ควรปฏิบัติให้เป็นนิสัยในการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดไปเพราะหากทุกคนมีการเตรียมความพร้อมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าต่อไปประเทศไทยคงไม่ต้องประสบกับภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน
ด้วยความปรารถนาดีจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ