กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--พม.
เมื่อ วันที่ ๙ มิ.ย.๕๔ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีเปิด “โครงการปาฏิหาริย์แห่งชีวิต (Miracle of Life) ครั้งที่ ๓ ค่ายเยาวชน Head Heart Hand ประจำปี ๒๕๕๔” ณ ห้องเจ้าพระยาบอลลูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา กรุงเทพฯ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากพระดำริในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจในการจัดบริการสวัสดิการสังคมไทยให้แก่เด็กและเยาวชน จึงได้น้อมนำแนวพระดำริมาดำเนิน “โครงการปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกในปี ๒๕๕๒ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม รวมทั้งสามารถสร้างปาฏิหาริย์แห่งชีวิตจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้” ผ่านการนำเสนอโครงการที่สร้างสรรค์จากเยาวชน สำหรับโครงการปาฏิหาริย์แห่งชีวิต (Miracle of Life) ครั้งที่ ๓ ค่ายเยาวชน Head Heart Hand ในปีนี้ ถือเป็นการขยายผลและต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ จากครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ โดยยังคงมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ภายใต้แนวคิด ๓ คำสำคัญ คือ HEAD หมายถึง ทำให้เกิดภาวะความคิดการเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ HEART หมายถึง การมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตอาสา และ HAND หมายถึง การลงมือปฏิบัติให้เกิดปาฏิหาริย์แห่งชีวิต
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า รูปแบบการดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดอบรมให้แก่เด็กและเยาวชนใน ๖ ภูมิภาค ทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก กลุ่มเป้าหมายหลัก คือเยาวชนไทยอายุ ๑๓-๑๘ ปี ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งเด็กและเยาวชนทั่วไป ได้มีโอกาสใช้ชีวิตและทำงานร่วมกัน โดยเยาวชนจะได้เรียนรู้การพัฒนาศักยภาพทักษะการเป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ การสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด และสร้าง แรงบันดาลใจในการทำโครงงานที่จะเปลี่ยนแปลงโลกที่อยู่รอบๆ ตัวให้ดีขึ้นด้วยการให้ ซึ่งจะทำการตัดสินเพื่อหาโครงงานชนะเลิศ ๖ โครงงานสุดท้าย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นโครงงานจริง โดยบันทึกวีดิทัศน์การปฏิบัติงานในรูปแบบ Reality ทั้งนี้ จากโครงการฯ ครั้งที่ ๑ มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม ๑๐,๙๒๕ คน ครั้งที่ ๒ เข้าร่วม ๘,๔๐๐ คน และสำหรับในครั้งที่ ๓ นี้ ตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ๑๒,๐๐๐ คน โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากสถานสงเคราะห์ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของเยาวชนจากในและนอกสถานสงเคราะห์เป็นครั้งแรก
“จากโครงการฯ นี้ เยาวชนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมทักษะการเป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ ผู้นำในการปฏิบัติ การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และหัวใจหลักสำคัญคือการปลูกฝังให้รู้จักการเป็น “ผู้ให้” เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ” นายอิสสระ กล่าว.