ค่าย GLOBE ฝึกนักวิทย์น้อยทำวิจัยในชุมชน เพื่อเข้าใจสิ่งแวดล้อมโลก

ข่าวทั่วไป Friday April 20, 2007 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สสวท.
โลกเรา ทั้งแล้ง ทั้งร้อน นั้นมี สาเหตุเกี่ยวข้องกันทั้งระบบ ปัญหาสิ่งแวดล้อม คงเดินหน้ากันเข้ามาหาเราอยู่เรื่อย ๆ และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น ถ้าเราไม่เกิดความตระหนัก แล้วลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองกันคนละไม้ละมือตั้งแต่วันนี้ เพราะทุกอย่างในโลกต่างก็มีความสัมพันธ์กัน เด็ดดอกไม้หนึ่งดอกหรือตัดต้นไม้เพียงหนึ่งต้น อาจสะเทือนถึงดวงดาว เปิดแอร์ใช้ทั้งวันไม่ได้สิ้นเปลืองแค่ค่าไฟฟ้าเท่านั้น แต่ต้องสูญเสียทรัพยากรโลกไปมากมาย หากปล่อยให้โรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลอง ไม่ได้เกิดแค่น้ำเน่า แต่ชีวิตแสนสุขของคนริมคลองคงจบสิ้น
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดค่ายเยาวชน “การวิจัยค้นคว้าอย่างนักวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4” ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม — 3 เมษายน 2550 ณ ศุภาลัยป่าสักรีสอร์ท อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 25 โรงเรียนทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนที่เข้าค่ายจะมีคุณครู 1 คน ควงคู่มากับนักเรียน 2 คน เข้าร่วมกิจกรรม
การจัดค่ายนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการGLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมศึกษานานาชาติ ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ GLOBE ประเทศที่85 โดยการเซ็นต์สัญญาระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)เป็นผู้ประสานงานระหว่าง GLOBE กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
กิจกรรมในค่ายมุ่งเน้นให้นักเรียนสังเกต ตรวจวัด และเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อม ในท้องถิ่นทั้งในภาคสนามและในห้องปฏิบัติการ ทั้งเรื่องดิน น้ำ อากาศ สิ่งปกคลุมดิน แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ และอธิบายความสัมพันธ์ของข้อมูล เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของกระบวนการ ต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในลักษณะของโลกทั้งระบบ เพื่อที่จะนำความรู้กลับไปทำวิจัยในโรงเรียนและในท้องถิ่นของตนต่อไป
หลังจากนักเรียนได้ทดลองเก็บตัวอย่างข้อมูลตามฐานต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงคราวต้องลงลึก แต่ละโรงเรียนลงมือเขียนเค้าโครงวิจัยของตนเอง เพื่อจะได้กลับไปทำวิจัยสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนหลังเปิดเทอม
น่าปลื้มใจที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจ และร่วมมือ ร่วมแรงเก็บเกี่ยวความรู้กันอย่างเต็มที่ แม้จะต้องนอนดึก เหนื่อย ร้อน แค่ไหนก็ไม่ถอย เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเขาเอง ถึงแม้จะเป็นเพียงสองมือเล็ก ๆ แต่เมื่อรวมกันเข้า ก็เกิดผลได้
คุณครูบังอร นวลจันทร์ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา จังหวัดนครนายก ชอบกิจกรรมคำถามวิจัยในค่ายนี้มาก เพราะสามารถนำไปใช้แนะแนวทางให้แก่นักเรียนในการเริ่มต้นทำวิจัยได้ เพราะที่โรงเรียนให้นักเรียนชั้น ม. 5 ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทุกปี แต่พบปัญหาคือนักเรียนไม่รู้ว่าจะทำวิจัยเรื่องอะไรดี มาค่ายคราวนี้จึงได้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้สอนได้ ทั้งการตั้งคำถามและการเขียนเค้าโครงวิจัยต่าง ๆ
“กลับไปจะต้องให้นักเรียนทำโครงงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ให้สังเกตชุมชนที่พวกเขาอยู่ เด็ก ๆ ในโรงเรียนมาจากหลายจังหวัดทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา อรัญประเทศ สระแก้ว มีโครงการ GLOBE ก็ดีนะ จะได้ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม ตอนนี้ปัญหาโลกร้อนมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กระเทือนต่อบ้านเราประเทศเดียวแต่กระเทือนทั่วโลก”
ในส่วนของการเขียนเค้าโครงวิจัยเพื่อกลับไปทำต่อนั้น นางสาวซูซานา หลังชาย และ นางสาวกันยานรัตน์ ขู่ซุ่ยหลี ชั้น ม.4 โรงเรียนกำแพงวิทยา จังหวัดสตูล ได้เขียนเค้าโครงวิจัยเรื่อง “ป่าชายเลน น้ำและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” โดยมีคำถามในการวิจัยว่าระดับความลึกของชายหาดที่ต่างกันมีผลต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอย่างไร สถานที่ศึกษาคือชายหาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
“โรงเรียนอยู่ห่างจากชายหาดประมาณ 10 กิโลเมตร และบ้านของหนูก็อยู่ใกล้ทะเลค่ะ ปรึกษาคุณครูแล้ว กลับไปต้องไปทำงานวิจัยเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนค่ะ” สาวน้อยทั้งสองบอก
เด็กลุ่มน้ำอย่าง เด็กชายอภิสิทธิ์ เหล่าเสียง และเด็กหญิงสุพรรณิการ์ บัวคุ้ม ชั้น ม. 1 โรงเรียนอบทมวิทยา จังหวัดอ่างทองนั้นจะทำวิจัยเรื่อง “เปรียบเทียบคุณภาพน้ำในแต่ละฤดูกาล” จุดศึกษาอยู่ที่คลองสายทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยตั้งสมมติฐานว่า สิ่งมีชีวิตในน้ำแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกัน และหากคุณภาพน้ำไม่ดีจะส่งผลต่อจำนวนสิ่งมีชีวิตด้วย ซึ่งพวกเขาต้องทำวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อหาคำตอบให้กับสมมติฐานดังกล่าวในคราวต่อไป
เด็กรุ่นเล็กชั้นประถมที่มาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร นั้นจะทำวิจัยเรื่อง “ผลของ น้ำหมักชีวภาพต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้” และโรงเรียนวัดปากควน จังหวัดนครศรีธรรมราช จะศึกษา “องค์ประกอบของต้นสาคูที่เติบโตในระบบนเวศน์ป่าพรุ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช”
มาฟังเสียงของเด็ก ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่เล่ามานี้กันบ้าง
เด็กหญิงภวรัญชน์ จันทรภักดี (เดียว) ชั้น ป. 6 โรงเรียนบ้านหนองบอน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า ชอบกิจกรรมออกไปสำรวจตามจุดต่างๆ เพราะว่าได้พบสิ่งใหม่ที่บางทีเราไม่รู้ มาค่ายนี้ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ให้เรานำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและในท้องถิ่นของเรา “ในชุมชนของหนูมีปัญหาเรื่องดินค่ะ เพราะส่วนใหญ่คนในชุมชนมีอาชีพทำนา แล้วชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมีทำนาข้าว กลับไปก็คิดว่าผลจากงานวิจัยที่จะทำนั้นสามารถบอกชาวบ้านได้ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีกับ ปุ๋ยชีวภาพอย่างไหนดีกว่ากัน”
เด็กชายภัทรภณ ประสมพงศ์ (เค้ก) ชั้น ม. 2 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา เล่าว่า “ในค่ายมีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก เป็นวิชาการล้วน ๆ ผมชอบกิจกรรมสำรวจพื้นที่ทั้ง 5 จุดในบริเวณรีสอร์ท สนุกมากครับ ได้ประสบการณ์เยอะมากคิดว่าจะเอาไปบอกต่อแนะนำเพื่อนที่ไม่ได้มา ถ้ามีโอกาสก็จะไปปรึกษาคุณครูเพื่อจัดค่ายแบบนี้บ้างในโรงเรียน สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนผมมองว่าควันไฟอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและสภาพอากาศ ก็เลยอยากจะศึกษาให้ลึกซึ้งมากขึ้นครับ”
เด็กชายทวิฉัตร บุญลอย (แจ๊บ) ชั้น ป. 4 โรงเรียนเทศบาลวัดโขดทิมทาราม จังหวัดระยอง นั้นชอบเรียนทั้งวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เจ้าตัวบอกว่าชอบคณิตศาสตร์มากกว่า เห็นเป็นเด็กตัว กระเปี๊ยก เรียนชั้น ป. 4 แค่นี้ แต่น้องแจ๊บเคยผ่านการทำโครงงานมาหลายเรื่องแล้ว ทั้งเรื่องพืชในป่าชายเลน ระบบสุริยจักรวาล ประวัตินักคณิตศาสตร์ เรื่องสิ่งแวดล้อมผมก็ชอบครับ มาครั้งนี้ได้รู้ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป ก็ทำให้อีกอย่างเสียไปด้วย
กิจกรรมที่จัดในค่ายที่แจ๊บชอบมากที่สุด ก็คือ กิจกรรมศึกษาทดลอง กลุ่มของแจ๊บศึกษาดินบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก พบว่า ดินที่อยู่ใกล้แม่น้ำมีอุณหภูมิต่ำสุด ดินที่อยู่กลางแดดร้อนที่สุด ดินที่อยู่ใต้ ร่มเงามีอุณหภูมิปานกลาง แต่แร่ธาตุเท่ากันหมด “ดินที่พบเป็นดินดีครับ มีโพแทสเซียม ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสปานกลาง สามารถปลูกพืชได้”
เมื่อถามถึงสิ่งแวดล้อมในระยองที่น้องแจ๊บสนใจจะศึกษา เจ้าตัวบอกว่า “ป่าชายเลนที่ระยองมีต้นไม้น้อยมาก และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตน้อย ตอนนี้คนเขาไม่ค่อยบุกรุกป่าชายเลนแล้ว แต่พื้นที่เสื่อมโทรมไปเยอะมาก โดยเฉพาะโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำและมีการทิ้งขยะจากชุมชนด้วย ผมชอบเรียนวิทยาศาสตร์แบบนี้แหละครับ แบบที่ได้ออกไปสำรวจพื้นที่จริง ซึ่งดีครับ เราจะได้ทำเอง ที่ผ่านมาในโรงเรียนคุณครูจะเก็บตัวอย่างมาให้เราศึกษา แต่ถ้าได้ไปเองจะได้ดูว่าสถานที่ที่เราเก็บตัวอย่างมาจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร”
นาวสาวสุนารี เนรมิต (แอ๊ค) ชั้น ม. 5 โรงเรียนปิยชาติพัฒนา จังหวัดนครนายก ทิ้งท้ายว่า ค่ายนี้มีตั้งแต่เด็กประถม เด็กโต จนถึงนักวิทยาศาสตร์ ได้นำความคิดมารวมกันและแลกเปลี่ยนกัน ชอบเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ยิงคำถามให้เด็ก ๆ อธิบาย ทำให้เรามองเห็นแง่คิดอีกแบบที่ต่างออกไป “สระแก้วมีต้นไม้เยอะ แต่ดินไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช มีแต่ที่ดินรกร้าง ไม่สามารถปลูกพืชได้ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ในชุมชนที่เราอยู่ ดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงจากความรู้ที่เราได้ครั้งนี้บ้าง โครงการ GLOBE ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา รู้จักว่าสิ่งแวดล้อมมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง ทำให้หันกลับมาคิดถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดปัญหาต่าง ๆ รอบตัวเรา พอรู้แล้วอาจช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ได้”
สิ่งแวดล้อมของเรา สังคมของเรา จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกในสังคมเกิดความตระหนัก และลงมือช่วยกันทำอย่างจริงจัง
อย่างน้อยเยาวชนเหล่านี้ ก็ได้เริ่มต้นกันแล้ว งานวิจัยที่เกิดจากความสงสัยและเกิดจากการมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของพวกเขา จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด อย่างน้อยผลที่ได้ก็คือความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการคิดและจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของพวกเขาเอง... ซึ่งก็นับว่า ได้ผลคุ้มค่าแล้ว
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก ต้นไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ