กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ธนาคารทหารไทย
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่จะมีการประชุมเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 20 - 21 มี.ค. 50 ฝ่ายวิจัยคาดว่า เฟดจะยังคงตรึง Fed Funds Rate ที่ร้อยละ 5.25 ต่อไป
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม ได้แก่
1. แรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ : ยังคงมีระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. 50 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 2.1 ของเดือน ม.ค. 50 เป็นร้อยละ 2.4 เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ. 50 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเท่ากับเดือน ม.ค. 50 ที่ร้อยละ 2.7 สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure Index : PCE Index) ในเดือน ม.ค. 50 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เทียบกับร้อยละ 2.3 ของเดือน ธ.ค. 49 แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core PCE Index ที่เฟดมักใช้ประกอบการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ของเดือน ธ.ค. 49 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในเดือน ม.ค. 50 การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เกินร้อยละ 2.0 จึงจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง
2. อัตราการว่างงาน : ปรับลดลงต่อเนื่อง
อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 50 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 4.6 ของเดือน ม.ค. 50 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.พ. 50 แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 97,000 ตำแหน่ง แต่ยังถือว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราที่คาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ตำแหน่ง กอปรกับการจ้างงานในเดือน ม.ค. 50 ได้ถูกปรับให้เพิ่มขึ้นอีก 35,000 ตำแหน่ง จากตัวเลขประกาศครั้งก่อน 111,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นเป็น 146,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ไม่ให้ชะลอตัวลง
3. ภาคการผลิตและภาคบริการ : ดัชนีปรับตัวเกินกว่าระดับ 50
ดัชนี ISM-ภาคการผลิตกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.3 ของเดือน ม.ค. 50 เพิ่มขึ้นเป็น 52.3 ในเดือน ก.พ. 50 แต่ดัชนี ISM-ภาคบริการเดือน ก.พ. 50 ชะลอลงจากระดับ 59.0 ของเดือน ม.ค. 50 มาอยู่ที่ระดับ 54.3 อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีทั้งสองประเภทยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 แสดงว่าทั้งภาคการผลิตและภาคบริการสามารถขยายตัวต่อไปได้
4.ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม : ปรับตัวดีขึ้น
ในเดือน ก.พ. 50 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ขยายตัวจากระยะเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 3.4 เทียบกับเดือน ม.ค. 50 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 การเติบโตของดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลต่อการคาดการณ์ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะเติบโตในอัตราชะลอตัวลง
จากการที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีจนถึงขณะนี้ยังคงสามารถขยายตัวต่อได้ โดยไม่ได้ชะลอตัวอย่างรุนแรงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับ Comfort Zone ในขณะเดียวกัน ตลอดทั้งปี 2549 ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ยังคงขาดดุลสูงถึงร้อยละ 6.5 ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่า 856.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้สหรัฐฯ ยังคงต้องการให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศ เพื่อมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณวันละ 2.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศ ดังนั้น ฝ่ายวิจัย จึงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 20 - 21 มี.ค. 50 โดยจะยังคงประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.25 ต่อไป