กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
รายการแดนสนธยา เสนอสารคดีชุดพิเศษ
ตอน โลกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (THE LIFE OF MAMMALS)
วันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2550 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
พบโลกที่เต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครองโลก ภาพอันตื่นตาตื่นใจของชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั่วทุกมุมโลก การอยู่รอดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความลับในการใช้ชีวิตท่ามกลางอันตรายรอบด้าน จากบนฟากฟ้าถึงใต้มหาสมุทร ร่วมเปิดบันทึกโลกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
วันจันทร์ที่ 16 ก.ค. 50 พบการสู้รบระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกับพืช ความแปลกประหลาดของตัวสลอธ ที่มีวิธีประหยัดพลังงาน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ และลงสู่พื้นดินเฉพาะเวลาถ่ายเท่านั้น ตัวสมเสร็จ ที่รู้วิธีกินใบไม้ซึ่งเต็มไปด้วยพิษให้ปลอดภัย ด้วยการกินใบไม้แต่ละชนิดในปริมาณน้อยสลับการกินใบไม้ชนิดอื่นด้วย และวิธีต้านทานพิษของสมเสร็จโดยกินเคโอลิน ที่อยู่ตามตลิ่งแม่น้ำ เคล็ดลับการสะสมอาหารในฤดูหนาวของ ไพค่า ด้วยการกักตุนดอกไม้ที่มีพิษร้ายแรง เพราะพิษจะช่วยคงความสดของดอกไม้ให้ ไพค่า สามารถเก็บไว้กินเป็นอาหารได้นานตลอด ฤดูหนาว
วันอังคารที่ 17 ก.ค. 50 พบเส้นทางลับการเดินทางของโขลงช้างในถ้ำ เพื่อค้นหาแหล่งเกลืออันมีค่า ซึ่งเป็นเส้นทางที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมานานหลายศตวรรษ และการรวมกลุ่มของประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หนาแน่นที่สุด กวางคาริบู ที่อพยพหนีหนาวในเขตขั้วโลกเหนือ ฝูงวิลเดอบีสต์ ที่อพยพสู่ทุ่งหญ้าเซเรงเกติ พบความอยู่รอดของต้นอาเคเชีย ที่ใช้เทคนิคหลอกล่อให้ ดิค-ดิค, กวางอิมพาล่า และยีราฟ สามารถกินใบของมันได้บางส่วน และปล่อยให้เมล็ดในต้นแก่ได้ที่ เพื่อให้พวกมันช่วยเก็บ และกระจายเมล็ดให้
วันพุธที่ 18 ก.ค. 50 พบการป้องกันตัวของเหล่าสัตว์กินพืช ที่รวมกลุ่มกันเป็นฝูง เพื่อช่วยกันระวังอันตราย โดยมีลักษณะประสาทสัมผัสอันว่องไว หูที่บิดหมุนได้ จับเสียงได้ทุกทิศทาง จมูกที่ไวต่อกลิ่น ตาดำ ขนาดใหญ่ที่ช่วยมองเห็นในมุมกว้าง และลูกตาที่อยู่ด้านข้าง ซึ่งมองเห็นศัตรูได้จากด้านหน้าและด้านหลัง ขาหลังที่แข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เพื่อเร่งความเร็วได้ว่องไวเมื่อถูกซุ่มโจมตี พบอาวุธที่น่าเกรงขามของควายป่า ที่ใช้ กีบเตะและเขาขวิด เพื่อป้องกันตัวจากสัตว์กินเนื้อและใช้ต่อสู้กับพวกเดียวกัน และการปะทะกันระหว่างแกะอเมริกัน บิ๊ก ฮอร์น ตัวผู้ 2 ตัว ที่ใช้เขาอันทรงพลังเข้าปะทะกัน
วันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ค. 50 พบวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากยุคไดโนเสาร์ถึงยุคปัจจุบัน ชรูว์(Shrew) ที่มีลักษณะคล้ายหนู มีจมูกแหลม ยอดนักล่าแมลงในเวลากลางคืน ที่สามารถเลี้ยงลูกที่เกิดออกมาด้วยน้ำนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการแห่งชัยชนะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และการปรับตัวอีกขั้นให้เข้ากับสภาวะในน้ำจนกลายเป็น วอเทอร์ ชรูว์ ที่ปรับสภาพขนและเท้า เพื่อล่าเหยื่อใต้น้ำได้ พบวิธีการล่าแมลงของ ตุ่นสีทอง (Golden Mole) ที่ใช้หัวเหมือนลิ่มมุดฝ่าทราย โดยใช้ครีบและเสียงนำทาง ที่สามารถได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของปลวก ในระดับเสียงที่ต่ำมาก และจมูก 22 แฉก ของ ตุ่นจมูกดาว (Star-Nosed Mole) ที่รับประสาทสัมผัสอันว่องไว สัมผัสอณูเล็กได้ถึง 600 จุด
วันศุกร์ที่ 20 ก.ค. 50 พบเคล็ดลับการเอาตัวรอดของ เม่นแคระ (Hedgehog) ที่ขดตัวเป็นก้อนหนามกลม ขณะที่ ตัวนิ่ม แพงโกลิน (Pangolin) ปรับวิธีค้นหาเหยื่อด้วยการใช้อุ้งเท้าหน้าขุดหามด พร้อมเกราะชั้นดี เปลือกตาหนา รูจมูก และหู ที่มีกล้ามเนื้อพิเศษ ช่วยป้องกันไม่ให้พวกมดกัดเข้าไปข้างใน รู้จักกับ ตัวกินมดยักษ์ ที่ใช้อุ้งเล็บขนาดใหญ่ และขาหน้า ฉีกจอมปลวกเป็นชิ้นๆ ได้
ติดตามชม “โลกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ในรายการแดนสนธยา
วันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2550 ตั้งแต่เวลา 18.00 — 18.30 น.ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา และคุณวิภาวัลย์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net