กรมสุขภาพจิตแนะแนวทางการปรับตัวในรั้วมหาลัย

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2011 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนย่อมมีการเรียนรู้ การรับรู้และการปรับตัวตั้งแต่แรกเกิดเป็นทารก ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย และในขณะก้าวพ้นจากการเรียนในระดับมัธยมศึกษาเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็จะมีสิ่งแวดล้อมใหม่ๆเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนใหม่ อาจารย์ใหม่ ที่เรียนใหม่ จากที่เคยอยู่บ้านก็ต้องผันตัวเองไปเป็นชาวหอ ต้องใช้ชีวิตตามลำพัง ห่างไกลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง บางคนอาจตื่นเต้นกับบรรยากาศที่แปลกใหม่ในสถานที่เรียนใหม่ หรือวิตกในเรื่องของการเรียนที่มีรูปแบบที่ยากขึ้น มีความกังวลกับสังคมเพื่อนใหม่ที่จะได้พบ ซึ่งอาจทำให้น้องใหม่หลายคนเกิดความ หวาดกลัว มีความเครียด รู้สึกอึดอัด ขัดแย้ง ผิดหวัง เป็นทุกข์ วิตกกังวล จนส่งผลกระทบทำให้เกิด ปัญหาด้านความประพฤติ ด้านการเรียน ครอบครัว สังคม และปัญหาสุขภาพจิต ที่ทำให้บางคนอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็เป็นได้ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในสถานศึกษาใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ และต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ก่อนอื่นนักศึกษาต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่างจากการใช้ชีวิตในโรงเรียน นักศึกษาจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องการปรับตัวเพื่อรองรับกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทา ปัญหา และความรู้สึกที่เป็น ทุกข์ได้แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเอื้อให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในการเรียนการศึกษาด้วย รองอธิบดีได้แนะแนวทางในการปรับตัวเพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างประสบความสำเร็จว่า นักศึกษาควร“รู้จักฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง”เนื่องจากการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ที่แตกฉานลึกซึ้งในสาขาวิชาที่เรียน การกำหนดเวลาเรียนในห้องเรียนจึงมีน้อย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้เวลาที่เหลือในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง อาจารย์จะทำหน้าที่สรุปแก่นสาระความรู้หลักของแต่ละรายวิชา นักศึกษาทำหน้าที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในรายละเอียดปลีกย่อยของเนื้อหา การพัฒนาทักษะโดยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเอง รักการเรียนรู้ส่วนตัว กระตือรือร้นและขวนขวายในการเรียนรู้เสมอ และเปิดใจยอมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความรู้ที่ได้ นอกจากนี้นักศึกษาควร“ฝึกยั้งคิดก่อนตัดสินใจ”เพราะการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ในหลายครอบครัวพ่อแม่มักจะยอมให้ลูกได้ดูแลรับผิดชอบตนเองมากขึ้น มีอิสระในการคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น บางคนต้องออกจากบ้านมาอยู่หอพักไม่มีผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิด อาจมีเพื่อนๆ บางคนชักชวนไปในทางที่ผิด เช่น ชวนดื่มเหล้า ชวนทดลองใช้สารเสพติด หรือการพนันต่างๆ เป็นต้น บางรายอาจต้องทำงานล่วงเวลา หรือมีกิจกรรมมากต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม นักศึกษาจึงต้องมีสติและมีความรับผิดชอบต่อตนเองอย่างมาก ไม่ทำตามความคึกคะนอง โดยไม่มองถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำนั้น ๆ และต้องเรียนรู้ที่จะคบเพื่อนที่ดี ชักชวนกันทำสิ่งที่ดี เรียนรู้ที่จะปรึกษาอาจารย์ในปัญหาที่เผชิญอยู่ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลืออย่างถูกวิธี หากนักศึกษาใช้ชีวิตที่อิสระมากโดยขาดการยั้งคิด ขาดความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและพ่อแม่ผู้ปกครอง จะทำให้เสี่ยงต่อการเดินในทางที่ผิด เสียเวลาในชีวิตไปโดยไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีก สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียน ต้องพยายามเรียน และสอบให้ได้ เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ให้จบการศึกษาเสียก่อนแล้วค่อยไปทำงานอย่างเต็มที่ หากนักศึกษาสามารถจัดการตนเองได้อย่างดีก็จะช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ประสบความสำเร็จ นักศึกษาควร“ฝึกสร้างวินัยรับผิดชอบ”ในตัวเองเพื่อเป็นการสร้างนิสัยความรับผิดชอบส่วนตัว เพราะรูปแบบการเรียนการสอน ในระดับอุดมศึกษาจะเน้นให้นักศึกษารับผิดชอบในหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ นักศึกษาควรจัดระบบ วางตารางเวลาในการเรียน การอ่านหนังสือ การทำรายงาน การค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม และต้องแบ่งเวลาสำหรับการทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย แบ่งเวลาสำหรับครอบครัว และจะต้องควบคุมตนเองให้สามารถทำตามแผนที่ได้ตั้งเป้าไว้ด้วย รองอธิบดีกล่าวปิดท้ายว่าการเรียนรู้เรื่องการปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัยหรือในการใช้ชีวิตถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะช่วยให้นักศึกษาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ทำให้กล้าที่จะยอมรับสภาพความจริงกล้าเผชิญชีวิต มีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่นมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถพัฒนาบุคลิกภาพและวางตนได้สมเหมาะสม เข้าใจตนเองและสามารถรักษาอารมณ์ให้ปกติอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในการเรียนการศึกษา มีงาน อาชีพและสามารถก้าวผ่านอุปสรรคในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข “หากนักศึกษาอยากก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงและสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จในชีวิต จงอย่ามองแค่ความรู้หรือความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับความสามารถในการปรับตัวด้วย ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีจะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ควรรู้จักปรับตัวทั้งในด้านความคิด สติปัญญา และลักษณะนิสัยที่ดี เป็นผู้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้ดีและสามารถเผชิญกับปัญหา และหาทางออกทางบวกให้กับชีวิตได้ และถ้าหากมีความวิตกกังวล หรือเครียดในการปรับตัวปรับใจ กังวลกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจนรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือมีเพื่อนที่ดูเหงาหงอย ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร เกรงว่าเพื่อนจะมีปัญหาสุขภาพจิตหรืออาจเป็นโรคซึมเศร้า สามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิตระบบอัตโนมัติ 1667 หรือบริการปรึกษา 1323” โทรฟรีทั่วไปตลอด 24 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025908409 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ