สภาที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีระดมความเห็นภาคอีสาน “นวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย”

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2011 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--สป. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.54 สภาที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นภาคอีสาน เรื่อง “นวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” โดยมีนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวเปิดการสัมมนา นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนา และนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ ดำเนินรายการ โดยกล่าวเบื้องต้นว่า ปัญหายาเสพติดมีผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งความมั่นคงรวมถึงการมาตรฐานในการปรับปรุงพัฒนาประเทศ การจัดสัมมนาในครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อลดอุปสงค์และอุปทานด้านยาเสพติดลง หลังจากสภาที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวในภาคใต้ จังหวัดตรัง วันนี้ (10 มิ.ย.54) สภาที่ปรึกษาฯ จัดสัมมนาอีกครั้งที่ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด และมีการอภิปรายโดยวิทยากร นายสมพร เทพสิทธา ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อภิปรายในประเด็นการสัมมนาว่า ยาเสพติดนั้นเป็นปัญหาร้ายแรงในบรรดาปัญหาสังคมแห่งชาติ แม้จะมีการแก้ไขมาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เยาวชนที่ติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้นเป็นเพราะภาคประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องถือว่าปัญหายาเสพติดนั้นเป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายสาธารณะ และควรนำพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในการสร้างนโยบาย ถ้าหากเยาวชนมีภูมิคุ้มกันด้านศาสนาก็จะไม่ติดยาเสพติด เพราะจากการวิจัยพบว่า เยาวชนที่ติดยาส่วนใหญ่นั้นมักมาจากครอบครัวที่ไม่มีการอบรมด้านศาสนา นายปณิธิ ตั้งผาติ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว กล่าวเสริมในประเด็นสัมมนาว่า ควรมีนโยบายในการให้รางวัลนำจับและคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสยาเสพติด และส่งเสริมให้ประชาชนกล้าที่จะเข้ามาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านนางจิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงสาเหตุและอุปสรรคด้านยาเสพติดว่า อุปสรรคของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทยนั้นมีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นกฎหมายบางตัวยังมีความขัดแย้งกันเอง รวมถึงนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน ทำให้ปัญหาดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนขึ้น ทั้งการผลิต การค้า การลำเลียงและการแพร่ระบาด เทคโนโลยีการผลิตในสมัยนี้ก็ง่ายขึ้น นายสุทธินันท์ จันทระ ประธานคณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล กล่าวถึงประเด็นการสัมมนาว่า ตัวเลขสถิติจากกรมพินิจฯ บ่งบอกว่ามีเด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และมาตรการการลงโทษผู้ค้าผู้เสพยามีความอ่อนแอ และอุปสรรคด้านกฎหมายก็ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาช่วยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดว่า ควรจะเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองประชาชนที่แจ้งเบาะแสยาเสพติด และแก้ไขกฎหมายที่มีความล่าช้าต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอุปสรรคในการจับกุมผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด และควรให้ทางโรงเรียนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจว่ามีนักเรียนที่เสพยาเสพติดหรือไม่ หากมีให้นำมาบำบัด และให้มีมาตรการลงโทษ หากมีโรงเรียนใดที่ปกปิดและมีส่วนช่วยนักเรียนที่ติดยาเสพติด นอกจากนี้ต้องมีมาตรการในการลงโทษและบำบัดผู้ค้าและผู้เสพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กลับมาค้าหรือเสพยาเสพติดอีก. ช่วงท้ายของการสัมมนา นายโอกาสฯ กล่าวปิดและสรุปการสัมมนาว่า ผู้ที่ติดยาเสพติดนั้นความจริงน่าสงสาร เพราะเป็นผู้ป่วยที่ถูกชักจูงให้เสพยาเสพติด นโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการมาหลายปีก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกได้ว่าวิธีการเดิมๆ นั้นไม่ได้ผล สภาที่ปรึกษาฯ จึงมาขอความคิดเห็นจากพี่น้องทางภาคอีสาน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี สิ่งที่สภาที่ปรึกษาฯ มุ่งหวังคือต้องลดยาเสพติดให้ได้อย่างน้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ทำสังคมให้มีความสุข ต่อจากนี้สภาที่ปรึกษาฯ จะนำความคิดเห็นของพี่น้องที่เข้าร่วมสัมมนาไปจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ