กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นายศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “มองหาโอกาสในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ณ โรงแรมซิตี้ โฮเต็ล ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงให้ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558
“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการเจรจาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน โดยได้ดำเนินการตามเป้าหมาย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2558 ซึ่งกรมฯจะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำข้อมูลข้อตกลงจากการเปิดเสรีอาเซียน เผยแพร่ให้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และมาใช้ประโยชน์จากความตกลง โดยการสัมมนาครั้งนี้ จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกตลาดในอาเซียน มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสช่องทางการทำการค้าในตลาดอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงให้ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมในการใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ AEC ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” นายสินทร กล่าว
ทั้งนี้ การสัมมนาในรูปแบบนี้ กำหนดจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ส่วนครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 จัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมเอเซี่ยน หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ตามลำดับ
อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย นำหน้าตลาดดั้งเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่ากว่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.6 ของการส่งออกรวมของไทย มีการนำเข้าจากอาเซียนประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นความสำเร็จของไทย ที่เกิดจากการรวมตัวของอาเซียน ดังนั้นผู้ประกอบการควรติดตามและรู้จักใช้ประโยชน์จากการลดภาษี และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน