สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 13 มิ.ย. — 17 มิ.ย. 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2011 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ 6-10 มิ.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.09 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 109.99 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.03 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 117.49 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.89 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 100.01 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.43 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 122.99 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.80 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 129.37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - โอเปค (OPEC) คงโควต้าการผลิตที่ระดับ 24.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการประชุม ที่ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 54 โดยโควตาการผลิตปัจจุบันเป็นโควตาการผลิตตั้งแต่เดือน ธ.ค. 51 ซึ่งก่อนการประชุมนักวิเคราะห์คาดการณ์โอเปคจะปรับเพิ่มโควต้าจากปริมาณการผลิตจริงในเดือน พ.ค. 54 ประมาณ 0.5 -1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน การประชุมครั้งหน้าจะจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในวันที่ 14 ธ.ค. 54 - โอเปค (OPEC) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 30.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน - หน่วยงานสารสนเทศทางด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration, EIA) ปรับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของโลกในปี 2554 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 88.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในการฟื้นฟูประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของจีนและภูมิภาคตะวันออกกลาง - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดขาดดุลการค้าในเดือน เม.ย. 54 ลดลง 7% จากเดือน มี.ค. 54 มาอยู่ที่ระดับ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย. 54 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 369.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามปริมาณสำรอง Gasoline และ Distillates เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล และ 0.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 214.5 ล้านบาร์เรล 140.9 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ - สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) รายงานยอดขายปลีกในเขตยูโรโซนเดือน เม.ย. 54 เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก่อน ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - นาย Nobuo Tanaka ผู้อำนวยการขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) กล่าวว่าพร้อมจะนำปริมาณน้ำมันดิบสำรองออกมาใช้หากเกิดสถานการณ์น้ำมันขาดตลาด ซึ่งครั้งล่าสุดที่ IEA นำปริมาณน้ำมันดิบสำรองมาใช้เนื่องจากพายุเฮอริเคน Katrina ในปี 2548 - ซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือน ก.ค. 54 มาอยู่ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ผลิตในเดือน พ.ค. 54 ที่ระดับ 8.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน) - วันที่ 7 มิ.ย.54 บริษัท TransCanada กลับมาดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบคีย์สโตน (กำลังขนส่ง 0.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบจากเมืองอัลเบอร์ต้า (Alberta) ประเทศแคนนาดามายังรัฐโอคลาโฮมาในสหรัฐฯหลังจากปิดทำการเนื่องจากเกิดเหตุน้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 54 - บริษัทมาสเตอร์การ์ด (MasterCard Advisors Spending Pulse) รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 3 มิ.ย. 54 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 2.9% อยู่ที่ระดับ 9.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-122 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลและ 96-103 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงหากซาอุดีอาระเบียสามารถเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันตามที่ประกาศ เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันดิบที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามควรจับตามอง ทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหลังจากที่จีนได้ประกาศยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการประท้วงในประเทศซีเรีย เยเมน และบาห์เรน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2537-1630 โทรสาร 0 2537-2171

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ