ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารธนาคารไทยพาณิชย์ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2011 09:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆที่ฟิทช์คงอันดับเครดิตเช่นกันแสดงอยู่ด้านล่าง อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญและเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งในความเห็นของฟิทช์น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบจากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของคุณภาพสินเชื่อ อันดับเครดิตของ SCB ยังสะท้อนถึงความเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายสินเชื่อ และเงินฝากที่แข็งแกร่ง โดยมีธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่แข็งแกร่งที่สุดเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย อัตราส่วนที่ใช้วัดความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับใกล้เคียงกัน แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการที่ฟิทช์คาดว่า SCB จะสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและระดับของเงินทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ต่อเนื่อง โดยมีส่วนสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปัจจุบันอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย และสูงกว่าอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของประเทศ (‘BBB’) อยู่ 1 อันดับ อันเป็นผลจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคาร การถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยในระดับที่ไม่สูงนัก รวมทั้งการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด โอกาศในการปรับขึ้นของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารยังมีจำกัดนอกจากธนาคารจะสามารถมีผลประกอบการณ์ที่แข็งแกร่งขึ้นได้อีกอย่างต่อเนื่องและมีการปรับเพิ่มขึ้นของระดับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย ขณะเดียวกันอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอาจถูกปรับลดในกรณีที่มีการกระจุกตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้นและ/หรือการเติบโตของสินเชื่ออย่างรวดเร็วในระดับที่อาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของสินทรัพย์และสภาพคล่อง หรือในกรณีที่ธนาคารมีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวในระยะสั้นถึงปานกลางมีไม่มากนัก ซึ่งสะท้อนโดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สถานะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสามารถทรงตัวอยู่ได้และ SCB ได้แสดงผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยมีกำไรสุทธิ (รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) อยู่ที่ 2.43 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2554 ธนาคารมีกำไรสุทธิ (ไม่นับรวมกำไรที่เกิดขึ้นพิเศษครั้งเดียว) เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 6.6% (เทียบจากสิ้นปี 2553) ซึ่งทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการเพิ่มขึ้น และยังเป็นผลจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง อัตราส่วน ROAA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยต่อปี) และ ROAE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ยต่อปี) อยู่ที่ระดับ 2.0% และ 18.4% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ ROAA และ ROAE ที่ระดับ 1.8% และ 16.2% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2553 SCB มีคุณภาพของสินเชื่อที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพของ SCB ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.83 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 4.48 หมื่นล้านบาท (4.8%) ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่รวดเร็วและการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รายใหม่ นอกจากนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษยังปรับตัวลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 3.26 หมื่นล้านบาท (3.5%) ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 110.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จากระดับ 107.3% ณ สิ้นปี 2553 และระดับ 95.7% ณ สิ้นปี 2552 สภาพคล่องของ SCB ยังคงเพียงพอ โดยมีส่วนสนับสนุนจากฐานเงินฝากในประเทศที่แข็งแกร่ง (คิดเป็นสัดส่วน 90% ของแหล่งเงินทุน) ธนาคารได้มีการระดมทุนในรูปของเงินกู้ยืมเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2554 เพื่อใช้เป็นแหล่งของเงินทุนสำหรับการปล่อยสินเชื่อสกุลเงินต่างประเทศที่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2553 เป็นต้นมา SCB มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 95.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 93.3% ณ สิ้นปี 2553 สถานะเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 10.8% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 14.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 11.6% และ 15.5% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2553 เนื่องจากขนาดและความสำคัญของ SCB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าไม่น่าจะมีความจำเป็นดังกล่าว เนื่องจากการทดสอบภายใต้สมมติฐานที่เข้มงวด (stress test) ของฟิทช์แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อประมาณ 15% และเงินฝากประมาณ 16% ณ สิ้นปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 24% และแม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีการถือหุ้นผ่านกองทุนวายุภักษ์อยู่ที่ประมาณ 23% แต่มีจำนวนกรรมการที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังไม่มากและไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานในธนาคาร ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘BBB+’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘F1+(tha)’’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ