ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2011 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ รายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆ แสดงอยู่ด้านล่าง อันดับเครดิตของ KBANK สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจ (Franchise) ในประเทศที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าฐานะทางการเงินโดยรวมของ KBANK น่าจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถรองรับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของคุณภาพสินเชื่อได้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยและอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ ‘BBB’ อยู่ 1 อันดับ อันดับเครดิตของ KBANK พิจารณาถึงเครือข่ายการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคาร (Stand-alone) รวมทั้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยที่อยู่ในระดับไม่สูงนัก และการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด โอกาสที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะได้รับการปรับขึ้นยังคงมีจำกัด นอกจากจะมีการปรับตัวของผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งมีการปรับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบ หากสินเชื่อมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับที่อาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์หรือสภาพคล่องมีการปรับตัวอ่อนแอลง หรือหากมีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยในระดับที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลาง ซึ่งสะท้อนอยู่ในแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ KBANK ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 โดยมีกำไรสุทธิ (ก่อนหักส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม) 6.6 พันล้านบาท (4.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553) และอัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 1.7% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น หากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ผลการดำเนินงานของ KBANK ในปี 2554 น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เข้มข้นขึ้นและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเพิ่มความกดดันให้อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยปรับตัวลดลง ในระยะยาว ฟิทช์คาดว่า KBANK น่าจะยังคงเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีผลการดำเนินงานโดยรวมแข็งแกร่งที่สุดในระบบ เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในกลุ่ม SME นอกจากนี้บริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารคาดว่าจะยังคงมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ของธนาคารให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร ยังคงเป็นสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย นอกจากนี้โครงการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจและระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2556 น่าจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการสร้างรายได้ของธนาคาร แม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KBANK จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เป็น 35.1 พันล้านบาท หรือ 3.2% ของสินเชื่อรวม (เทียบกับ 33.3 พันล้านบาท หรือ 3.1% ณ สิ้นปี 2553) ฟิทช์ยังคงคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของ KBANK น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และการที่ธนาคารให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ KBANK มีสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 37.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 หรือ คิดเป็น 107.9% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งและการถือคลองสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีคุณภาพสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไทย เป็นปัจจัยใหญ่ที่ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KBANK เงินกองทุนของ KBANK ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 105.9 พันล้านบาท หรือ 9.43% และเงินกองทุนรวมจำนวน 157.7 พันล้านบาท หรือ 14.04% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจาก KBANK มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่สูงและมีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีความจำเป็น KBANK ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 16% (ณ สิ้นปี 2553) บริษัทลูกที่สำคัญของธนาคารประกอบธุรกิจบริหารกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจประกัน ในปี 2552 KBANK ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคาร (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตขึ้นเป็น 38.3% ในปี 2552 จาก 7.5% ปัจจุบันหุ้นของ KBANK ได้มีการกระจายการถือหุ้นออกไปในวงกว้าง โดยนักลงทุนต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน) มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันที่ 49% อย่างไรก็ตามตระกูลล่ำซำยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในธนาคารและมีตัวแทนเป็นกรรมการในคณะกรรมการของธนาคาร ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AA-(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘F1+(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ