กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สสวท.
บทเพลง “วิทยสัประยุทธ์” ประจำรายการโทรทัศน์ของ สสวท. ซึ่งประพันธ์โดยคุณประภาส ชลศรานนท์นั้น คงไม่ได้เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง เพราะวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ในชีวิตประจำวันเราตั้งแต่ตื่นจนหลับไปเลยทีเดียว การเรียนรู้วิทยาศาสตร์นั้นไม่จำเพาะเจาะจงแต่เพียงในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์เท่านั้น วิทยาศาสตร์สามารถนำมาเรียนรู้แบบบูรณาการได้กับแทบทุกวิชา อาทิ ศิลปะ ดนตรี การงานอาชีพ และแม้กระทั่งเรียนรู้คู่กับประวัติศาสตร์และโบราณสถาน
ดร. ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ บัณฑิตโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติวิทยาศาสตร์ ได้จัดทำกิจกรรมสำหรับครูซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำเอาวิชาวิทยาศาสตร์มาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 เพื่อช่วยให้รายวิชาประวัติศาสตร์มีความน่าสนใจและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น หลังจากนำกิจกรรมมาทดลองใช้กับนักเรียนแล้ว ผลปรากฏว่า นักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหา และได้รับความเพลิดเพลินในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างมาก กิจกรรมดังกล่าวได้นำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และจัดทำคู่มือครูเพื่อให้ครูสามารถนำไปใช้สอนในโรงเรียนได้ด้วยตนเอง
กิจกรรมนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมี รศ. สมโชติ อ๋องสกุลเป็นหัวหน้าโครงการ และสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร. ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาประวัติศาสตร์โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เน้นเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย จึงทำให้นักเรียนสนุกและตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ กิจกรรมที่ได้จัดทำมีดังต่อไปนี้
ความลับของสีในจิตรกรรม เรียนรู้เรื่องสีบนจิตรกรรมฝาผนัง โดยให้นักเรียนดูวีดีโอความยาว 5 นาทีเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ หลังจากนั้นแจกกระดาษแก้ว 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงินให้นักเรียนทุกคน และให้นักเรียนนำกระดาษแก้วมาซ้อนทับกัน ส่องผ่านแสงจากไฟฉาย แล้วจดบันทึกว่า สีที่เกิดขึ้นจากการซ้อนทับกันเป็นสีอะไรบ้าง มีความแตกต่างในการผสมสีอย่างไร นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ว่า การมองเห็นสีได้จะต้องมีแสงก่อน จึงจะเห็นความแตกต่างของการผสมสี ซึ่งสัมพันธ์กับสีบนจิตรกรรมฝาผนังที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน
เครื่องเขินพูดได้ เริ่มต้นจากอธิบายว่าเครื่องเขินคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีที่มาอย่างไร ให้นักเรียนนึกถึงเครื่องเขินในชีวิตประจำวัน แล้วแจกกระดาษสีดำแทนเครื่องเขินที่ทายางรักแล้ว รอลงลายอย่างเดียว แล้วนำสีให้เด็กใช้ทดลองลงลาย ประกอบด้วย สีทองใช้แทนการปิดทอง สีแดงใช้แทนชาด และสีดำใช้แทนยางรัก และได้แนะนำนักเรียนว่า นอกจากจะลงสีด้วยพู่กันโดยตรงแล้ว นักเรียนสามารถนำสีมาผสมกันก่อนแล้วจึงลงสีจะได้สีที่แตกต่างกัน
ในการทำกิจกรรม พบว่า นักเรียนชื่นชอบกิจกรรมนี้มาก บางคนออกแบบได้วิจิตรพิสดารจนแทบไม่อยากเชื่อว่า นี่เป็นผลงานของนักเรียนระดับประถมศึกษา หลังจากออกแบบเรียบร้อยแล้วจะนำเอาฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหารมาคลุมทับผลงานอีกชั้นหนึ่ง เพื่อใช้เป็นตัวแทนการเคลือบเงาบนเครื่องเขิน จากนั้นก็จะให้เด็กนำผลงานของตัวเองออกมาแสดงหน้าชั้น พร้อมทั้งอธิบายว่า แนวคิดการออกแบบลวดลายบนเครื่องเขินของตนเป็นอย่างไร ช่วยเพิ่มมูลค่าของเครื่องเขินได้อย่างไร
สมบัติของหนานคำ อธิบายเรื่องทิศทาง ให้นักเรียนรู้จักการเขียนและการอ่านแผนที่ เริ่มต้นด้วยการอธิบายคร่าว ๆ ว่า แผนที่ในยุคเริ่มแรกเป็นการเขียนด้วยลายเส้น หลังจากนั้นจะมีรูปและสัญลักษณ์ประกอบ สำหรับในปัจจุบันนิยมใช้แผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียม และมีใบกิจกรรมให้เด็กให้ไปหาขุมทรัพย์ โดยเขียนเป็นคำบรรยายว่า ขุมทรัพย์สมบัติของหนานคำฝังอยู่ที่ไหน นักเรียนก็จะลองวาดแผนที่เพื่อหาตำแหน่งของสมบัติ ซึ่งจากการทำกิจกรรมนักรียนจะเรียนรู้ว่า การอธิบายทิศทางด้วยการบรรยายก็จะไม่เห็นภาพชัดเจนแม่นยำเหมือนกับการใช้แผนที่ ทำให้นักเรียนเข้าใจถึงประโยชน์ของแผนที่ว่าช่วยระบุทิศทาง บอกตำแหน่งสถานที่ สามารถใช้ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้
โลหะอะไรเอ่ย กิจกรรมนี้ยกตัวอย่างโลหะที่พบ เช่น นำรูปเหรียญเงินสมัยโบราณมาให้ชมว่ามีแบบใดบ้าง นำตัวอย่างเหรียญบาทและเหรียญห้าสิบสตางค์มาให้นักเรียนสังเกต จากนั้นให้นักเรียนทำงานตามใบกิจกรรม โดยใช้กระดาษสีเงินแทนแผ่นเงิน แล้วให้ออกแบบประดิษฐ์พับกระดาษเป็นดอกไม้หรือเงินตามความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนเอง
ช่วงท้ายของกิจกรรมจะเน้นให้เห็นว่า โลหะคืออะไร ความสำคัญและประโยชน์ของโลหะมีอะไรบ้าง การส่งเครื่องราชบรรณาการในอดีตมีความสัมพันธ์กับโลหะอย่างไร
ประวัติศาสตร์ประทับใจ ให้นักเรียนอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานประวัติของวัดเจดีย์เหลี่ยม และเครื่องเขิน จากนั้นให้เขียนผังมโนทัศน์หรือ Mind Map จากเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่นักเรียนเลือกอ่าน โดยนักเรียนจะต้องเข้าใจคำศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ และลำดับความคิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสรุปความคิดเห็น หลักฐานและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ กิจกรรมนี้ครูยังสามารถเปลี่ยนเนื้อหาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ตนต้องการสอนได้อีกด้วย
มหัศจรรย์ปูนกับการปั้น จะเริ่มด้วยการให้นักเรียนชมวีดีทัศน์เรื่อง เทคนิคปูนปั้น วัดเกาะกลาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน แล้วให้นักเรียนลองปั้นดินน้ำมันสีขาวซึ่งใช้แทนปูนปั้นโดยปั้นเป็นรูปใบไม้ แล้วสร้างลวดลายบนใบไม้ด้วยวิธีต่างๆ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่า การปั้นมีลักษณะเฉพาะอย่างไร จากนั้นก็สรุปให้นักเรียนเห็นความแตกต่างของปูนโบราณและปูนปัจจุบัน
“ในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ฝึกการสังเกต และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี” ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ดร. ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ ได้ทิ้งท้ายคำแนะนำคุณครูที่สนใจนำกิจกรรมนี้ไปจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนว่า “เนื่องจากกิจกรรมทั้งหมดมีจำนวนมากและหลากหลาย จึงทำให้ครูสามารถเลือกใช้กิจกรรมที่เหมาะกับการสอนของตนเอง บางกิจกรรมครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยตรง บางกิจกรรมครูอาจปรับเนื้อหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในการออกแบบได้เน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายและไม่ซับซ้อน เพื่อที่ครูจะได้ไม่ต้องกังวลในเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ในการสอน ส่วนวีดีทัศน์ครูก็สามารถดาวโหลดจากเว็บไซต์ไปใช้งานได้”
คุณครูเพชรรัตน์ ปัญญาใจ โรงเรียนวัดเสาหิน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าในช่วงการอบรมครูกับอาจารย์ ดร.ศิริวรรณว่า ในการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์นักเรียนยังไม่ค่อยสนใจนัก และอาจยังไม่รู้ ไม่เข้าใจด้วยว่าในชุมชนของตนเองมีโบราณสถานอยู่ และมีความสำคัญอย่างไร พอมีกิจกรรมนี้ขึ้น ก็คิดว่านักเรียนน่าจะรู้จักและเข้าใจสถานที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญในชุมชนของตัวเองมากขึ้น
คุณครูปัทมพงษ์ พงวาเรศ โรงเรียนวัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเด็กๆ น่าจะได้เรียนรู้ถึงความเป็นมา วิถีชีวิตของคนโบราณ ประวัติและโบราณสถาน ด้วยมุมมองวิธีคิดอย่างเป็นระบบนับว่า กิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์แล้วยังช่วยให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจและรักในถิ่นเกิดของตนเองมากยิ่งขึ้น
ในปีการศึกษา 2553 ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ได้นำกิจกรรมไปใช้จริงในลักษณะรูปแบบงานวิจัยกับ 13 โรงเรียนต้นแบบในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีการจัดค่ายวิชาการและการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และศึกษานิเทศก์ จำนวนกว่า 420 คน จาก 125 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศไปเรียบร้อยแล้ว ในช่วงต้นปีการศึกษา 2554 นี้ยังมีแผนในการขยายผลเพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูเพิ่มเติมทั่วประเทศ โดยจะทำให้มีโรงเรียนที่นำกิจกรรมไปใช้จริงมากกว่า 300 โรงเรียนสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ รวมทั้งการบริการวิชาการสำหรับนักเรียนและครู สามารถชมได้ที่ http://llen.edu.cmu.ac.th/ หรือ http://math.science.cmu.ac.th/ams/