ปตท. ทดลองเดินเครื่องการผลิต LNG เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2011 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ปตท. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท. ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นครั้งแรกของประเทศ ในปริมาณประมาณ 60,000 ตัน จากประเทศกาตาร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อใช้ทดลองเดินเครื่องการผลิตของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Maptaphut LNG Receiving Terminal ) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (LNG Receiving Terminal) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าการทดลองเดินเครื่องฯ จะแล้วเสร็จ และพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ สามารถส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับลูกค้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2554 นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เปิดเผยเพิ่มเติม ว่า ปตท. ได้ดำเนินการจัดหา LNG สัญญาระยะสั้น ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี จากบริษัทผู้ขาย LNG ในยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย และมีแผนที่จะจัดหาในรูปแบบสัญญาระยะยาวต่อไป ซึ่งการนำเข้า LNG จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 6-7% รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างเพียงพอและมั่นคง โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง ได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ทั้งนี้ สำหรับสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Maptaphut LNG Receiving Terminal ) ที่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด สร้างขึ้นเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ของ ปตท. แห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 755 ไร่ ที่ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีความสามารถรับ LNG นำเข้าในระยะแรก 5 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในอนาคต (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) และ มีท่าเรือซึ่งมีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุกก๊าซขนาดบรรทุกตั้งแต่ 125,000 — 215,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในอนาคต ปตท. มีแผนที่จะให้ Maptaphut LNG Receiving Terminal แห่งนี้ขยายเติบโตเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 0-2537-3209 โทรสาร 0-2537-3211

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ