กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--พม.
วันนี้ (๑๔ มิ.ย.๕๔) เวลา ๐๙.๐๐ น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (JICA) จัดงานเปิดตัวคู่มือสหวิชาชีพในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานของทีมสหวิชาชีพ และเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงรูปแบบ วิธีการ ในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ โดยมีนายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานเปิด ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นภัยอันร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (JICA) จึงได้ดำเนิน“โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมสหวิชาชีพเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์”เป็นโครงการต่อเนื่องระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๗ โดยปฏิบัติงานในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ จำนวน ๑๖ คน จากแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการ มาเป็นระยะเวลา ๒ ปี ๖ เดือน และได้ร่วมมือกันผลักดันการจัดทำ “คู่มือการทำงานทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์”เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ เล่ม ได้แก่ เล่มที่ ๑ บทนำคู่มือการทำงานของทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เล่มที่ ๒ การให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเล่มที่ ๓ กระบวนการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ และเดินทางกลับมายังประเทศไทย
“การจัดทำคู่มือดังกล่าว จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนบทเรียน ประสบการณ์ระหว่างสมาชิกทีม สหวิชาชีพ และสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาในคู่มือเป็นองค์ความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย และได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ หรือตามปัจจัยของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่เพียงแต่นำไปใช้ในการทำงานของทีมสหวิชาชีพได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสา ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้อีกด้วย” นายปกรณ์ กล่าว