ก.อุตสาหกรรม เดินหน้า ‘พัฒนาเตาอบยางแผ่นฯประหยัดพลังงานฯ’ แก่ สกย.4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แก้ปัญหาต้นทุนการผลิต

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2011 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สวทช. สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับโครงการ iTAP (สวทช.) เดินหน้าผลักดัน “โครงการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” แก่สมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.)ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร , สุราษฏร์ธานี , พัทลุง และนครศรีธรรมราช) เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทั้งพลังงานและระยะเวลาในการอบ รวมถึงเพิ่มคุณภาพยาง มั่นใจ จะช่วย เพิ่มรายได้และโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 13 ราย ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา ผลิตยางพาราได้ถึง 3.25 ล้านตัน และส่งออก 2.87 ล้านตัน มีมูลลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้นถึงกว่า 14,329 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณคิดเป็น 4 แสนล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าถึง 7,896 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ในกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน กำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้ คือ “เตาอบยางแผ่นรมควัน” ที่ใช้กันอยู่นั้นมีอายุเกือบ 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2536-2537) เป็นเตาอิฐ ทำให้การใช้งานเริ่มหมดสภาพ และใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะไม้ยางพาราที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้นและผันผวนตามความต้องการของตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย. สูงขึ้นตามไปด้วย นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยสามารถผลิตยางได้ปีละกว่า 3 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศถึงกว่า 16.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี พัทลุง และนครศรีธรรมรช เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศถึง 4.3 ล้านไร่ คิดเป็น 1ใน 4 ของประเทศ ประกอบกับราคาน้ำยางพาราที่สูงขึ้น และความต้องการยางแผ่นรมควันในต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เตาอบยางแผ่นรมควันที่ส่วนใหญ่ใช้กันอยู่เริ่มหมดสภาพและราคาไม้ฟืนที่แพงขึ้น อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางที่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ร่วมมือกับ สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เดินหน้าต่อยอด “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” ให้แก่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย.ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ล่าสุดมี สกย.ที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 13 แห่ง สำเร็จแล้ว 1 แห่ง และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ 12 แห่ง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและมีประโยชน์อย่างมาก กระทรวงฯในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการพัฒนาและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงการฯนี้จึงเป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางพารา นอกจากนี้ยังได้ยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนได้มากขึ้น รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า “แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลก แต่แนวโน้มประเทศเวียดนามอาจเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพราะนอกจากค่าแรงงานที่ถูกกว่าไทย ยังเป็นที่น่าสังเกตุว่าในปี 2552 เวียดนามสามารถผลิตยางได้ 720,000 ตัน แต่มีตัวเลขส่งออกถึง 640,000 ตัน จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ประกอบกับความผันผวนของราคายางที่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นผู้กำหนด เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องหันมาตระหนัก และเร่งแก้ไข เช่น การหันมาใช้เตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมที่หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาร่วมกันพัฒนาขึ้น เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ” ปีงบประมาณ 2553 — 2555 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 11.3 ล้านบาท โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปน้ำยางพาราแบบลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการขยายผล “การสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” จำนวนทั้งสิ้น 32 เตา ภายในระยะเวลา 3 ปี สำหรับต้นทุนการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานฯ นี้ มีมูลค่าเตาละ 500,000 บาท สกย.ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยในการดำเนินการจัดทำเตาละ 300,000 บาท อีก 200,000 บาท โครงการ iTAP ให้การสนับสนุน 70% เป็นค่าที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่ สกย.จะผู้ออกเพิ่มเติม รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อกระตุ้นให้ สกย.หันมาพัฒนาเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมใช้แทนเตาแบบเดิม เพราะผลสำเร็จในการสร้างและทดลองใช้เตาต้นแบบที่ สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี เมื่อกลางปี 2552 สามารถประหยัดพลังงานและเวลาได้จริง โดยลดการใช้ไม้ฟืนลงได้มากกว่า 40% , ลดระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจาก 4 วันเหลือ 3 วัน ,ปริมาณยางเสียลดลง และมีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ยังสามารถดึงกลับเข้าไปใช้รมควันยางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดปริมาณควันออกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่สำคัญยังทำให้ต้นทุนโดยรวมในการรมยางลดลงมากกว่า 30% อนึ่ง กลุ่มสมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย.ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 13 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 6 แห่ง ประกอบด้วย สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี , สกย.ที่วังพัฒนา , สกย.บ้านชายเขา , สกย.ไสกรูดการเกษตร อ.ทุ่งสง , สกย.ห้างส้าน อ.บางขัน และ สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี อ.พรหมคีรี , จังหวัดพัทลุง 3 แห่ง ประกอบด้วย สกย.ในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านโคกม่วง , สกย.บ้านโคกพญา อ.เขาชัยสน และ สกย.บ้านทุ่งคลองควาย อ.ป่าบอน ส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีด้วยกัน 3 แห่ง ประกอบด้วย สกย.บ้านคลองสระ , สกย.ช้างคู่พัฒนา อ.กาญจนดิษฐ์ และ สกย.บ้านวังใหญ่ อ.เวียงสระ และสกย.บ้านในเหมือง อ.หลังสวน จ.ชุมพร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ สำหรับ สกย.หรือกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่สนใจต้องการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมแบบใหม่นี้ สามารถติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง โทร. 074-612-416 ต่อ 24 หรือ โทรสาร. 074-611-772 หรือที่โครงการ iTAP โทร. 02-564-7000 ต่อ 1382 , 1389 (ในวันและเวลาราชการ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ