กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ประจำไตรมาสสองของปี 2554 ซึ่งได้หารือกันถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในการซื้อขายหน่วยลงทุน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในตลาดทุน สรุปเรื่องที่สำคัญได้ ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมรองรับการจัดให้ทำแบบสอบถามและการส่งเสริมการขายของผู้ขายหน่วยลงทุน
ก.ล.ต. หารือกับสมาคมถึงความคืบหน้าและอุปสรรคในการให้ลูกค้าทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง เพื่อรองรับการให้คำแนะนำการลงทุนในหน่วยลงทุนที่เหมาะสม ที่จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 โดยพบว่า บลจ. ทุกแห่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีผู้ลงทุนบางส่วนไม่เข้าใจเจตนารมณ์หรือเห็นถึงประโยชน์ในการตอบแบบสอบถาม ดังนั้น ก.ล.ต. จึงขอให้ สมาคมกระตุ้นให้ บลจ. ประสานงานกับผู้ขายหน่วยลงทุนในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถชี้แจงต่อผู้ลงทุนให้เข้าใจว่าการทำแบบสอบถามเป็นกระบวนการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนขั้นพื้นฐานในการทำความรู้จักตนเองก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงเร่งพัฒนาระบบการประเมินผลจากแบบสอบถาม และวิธีการแจ้งเตือนความเสี่ยง ส่วนบาง บลจ. ที่ต้องหยุดให้บริการช่องทางซื้อขายผ่านเอทีเอ็มและอินเทอร์เน็ตเป็นกาชั่วคราวระหว่างการพัฒนาระบบนั้น บลจ. ก็ควรทำการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจด้วย
สำหรับประเด็นที่ บลจ. แข่งขันขายหน่วยลงทุนโดยเน้นการโฆษณาของแจกของแถม ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่าพิจารณาข้อมูลของกองทุนรวมนั้น สมาคมรับที่จะกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ในโฆษณาจะต้องเน้นเปิดเผยข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนอย่างเต็มที่ เช่น ลักษณะการลงทุนและความเสี่ยง รวมทั้งผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เป็นต้น ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับของแถมจะมีเนื้อหาเพียงส่วนน้อย
2. ความคืบหน้าการเชื่อมโยงตลาดทุนตามโครงการ ACMF
ก.ล.ต. แจ้งให้สมาคมทราบถึงความคืบหน้าในการเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างประเทศภายใต้โครงการ ก.ล.ต. อาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) โดยมีแผนที่จะอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มประเทศสมาชิกสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ (non-retail investor) ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2555 และเสนอขายหน่วยลงทุนที่ไม่ซับซ้อน (plain CIS) ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป (general public) ได้ภายในครึ่งหลัง ของปี 2555 ส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนที่ซับซ้อน (complex CIS) ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนที่ไม่ซับซ้อนให้กับผู้ลงทุนทั่วไปได้ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กลางที่ประเทศสมาชิกเห็นชอบร่วมกัน ซึ่ง ก.ล.ต. กับสมาคมจะหารือกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์กลาง เพื่อนำความเห็นของประเทศไทยไปหารือกับประเทศสมาชิกต่อไป
3. การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้กับบริษัทสมาชิก
ก.ล.ต. รับพิจารณาตามข้อเสนอของสมาคมที่จะอนุญาตให้ บลจ. จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่ บลจ. ตามผลสำเร็จของการติดต่อหรือตามมูลค่าหน่วยลงทุนที่ซื้อขายและระยะเวลาที่ลงทุนได้ เพื่อให้ บลจ. สามารถขยายฐานผู้ลงทุนไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการแนะนำรายชื่อจะต้องไม่เป็นการเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากผู้ขายหน่วยลงทุนต้องทำความรู้จักกับผู้ลงทุน โดยจัดให้ลูกค้าทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงก่อน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ได้แจ้ง บลจ. ตั้งแต่ปลายปี 2552 ให้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเกณฑ์การทำความรู้จักกับลูกค้าและให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องระบบงานเท่านั้น แต่รวมถึงการอบรมผู้ที่จะต้องติดต่อกับลูกค้าให้เข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเชื่อว่าเมื่อลูกค้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว จะเห็นถึงประโยชน์และให้ความร่วมมือที่จะตอบแบบสอบถามดังกล่าว
นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ บลจ. เตรียมตัวรับการเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างประเทศ เพราะใกล้เข้ามามากแล้ว โดยในการหารือกำหนดหลักเกณฑ์กลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน ก.ล.ต. จะทำร่วมกับสมาคมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้หลักเกณฑ์เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของไทยและมีการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม”
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “แบบสอบถามที่ทุก บลจ. ส่งไปยังผู้ลงทุนนั้น จะเป็นแนวทางพื้นฐานที่จะทำให้ผู้ลงทุนเริ่มทำความรู้จักและเข้าใจถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่กองทุนมีนโยบายจะลงทุน ซึ่งหลักทรัพย์ต่างประเภทกันนั้นย่อมมีความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวังที่ต่างกัน ผู้ลงทุนจึงต้องเรียนรู้ก่อนจะลงทุนว่าตนเองจะรับความเสี่ยงได้แค่ไหน มิใช่ว่ากองทุนทุกประเภทจะเหมาะสมกับผู้ลงทุนทุกคน ดังนั้น จึงต้องกำชับให้ผู้ขายมีความเข้าใจและสามารถแนะนำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ การจะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนจะมีระบบตรวจสอบก่อนอนุมัติรายการซื้อว่าผู้ลงทุนได้ตอบแบบสอบถามของ บลจ. ที่ตนเองสนใจจะลงทุนไปแล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้ทำก็จะต้องให้ผู้สนใจลงทุนจัดทำเสียก่อนจึงจะขายหน่วยลงทุนให้ได้”