กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ธนาคารทหารไทย
การเปิดขายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หรือ Inflation-Linked Bond (ILBs) ของกระทรวงการคลังในช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. นี้ กล่าวได้ว่าเป็นที่น่าจับตาของนักลงทุนทั้งสถาบัน และรายย่อย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม กับสถานการณ์เงินเฟ้อในขณะนี้ที่เร่งตัวเหนือร้อยละ 4 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง อีกทั้งหากพิจารณาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งเท่ากับว่าที่ผ่านมาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ นอกจากนี้ผลกระทบจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคมนี้ ยังเป็นปัจจัยเอื้อให้พันธบัตรชดเชยเงินฝากมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อคืออะไร ? พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อคือตราสารหนี้ที่รัฐบาลออกให้โดยมีผลตอบแทนอ้างอิงตามเงินเฟ้อ ในกรณีของไทยจะอ้างอิงตามเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในสหรัฐเรียกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อว่า TIPS (Treasury Inflation Protection Securities) โดยนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนใน 3 ส่วนคือ ดอกเบี้ยคงที่ ส่วนชดเชยเงินเฟ้อของดอกเบี้ยคงที่ และส่วนชดเชยเงินเฟ้อของเงินต้น ทั้งนี้รัฐบาลจะมีการรับประกันเงินต้นให้ด้วย คือ หากส่วนชดเชยเงินเฟ้อของเงินต้นติดลบ รัฐบาลจะไม่นำส่วนขาดทุนมาคิดและจะจ่ายเงินต้นให้เต็มจำนวน
ตัวอย่างเช่น พันธบัตรมูลค่า 100 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และมีอายุเหลือ 1 ปี และกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อระหว่างปีนั้นเท่ากับร้อยละ 3 ดังนั้นเมื่อถึงวันไถ่ถอนนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยคงที่ 1 บาท ส่วนชดเชยเงินเฟ้อของดอกเบี้ยเท่ากับ 0.03 บาท ได้รับส่วนชดเชยเงินเฟ้อของเงินต้นเท่ากับ 3 บาท และได้รับเงินต้นคืน 100 บาท ฉะนั้นจะได้ดอกเบี้ยสุทธิในแต่ละปีเฉลี่ย 1.03 บาท และได้เงินต้นสุทธิคืน 103 บาท
กรณีเกิดเงินฝืดร้อยละ 5 (หรือเงินเฟ้อติดลบร้อยละ 5) เมื่อถึงวันไถ่ถอนนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยคงที่ 10 บาท ส่วนชดเชยเงินเฟ้อของดอกเบี้ยเท่ากับ -0.5 บาท ได้รับส่วนชดเชยเงินเฟ้อของเงินต้นเท่ากับ -5 บาท แต่ส่วนนี้รัฐบาลจะไม่นำมาคิดเพราะมีค่าติดลบ ดังนั้นจะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน 100 บาท ฉะนั้นสุทธิแล้วจะได้ดอกเบี้ยที่ปรับเงินเฟ้อแล้ว 9.5 บาท และเงินต้นสุทธิคืน 100 บาท
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่จะออกในครั้งนี้มีมูลค่าอยู่ระหว่าง 2-4 หมื่นล้านบาทและเปิดขายให้นักลงทุนรายย่อยในจำนวนขั้นต่ำ 100,000 บาท โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนแสดงความต้องการซื้อพันธบัตรนี้แล้วค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะรับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงทางเครดิตที่ต่ำ ยังให้ผลตอบแทนรวมแล้วสูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการลงทุนและการออมเงินในระยะยาว
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ชี้วัดการคาดกาณ์เงินเฟ้อของตลาด ในทางทฤษฎี ถ้าปริมาณพันธบัตรและตลาดรองพันธบัตรมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ และหากอายุคงเหลือของพันธบัตรเท่ากันแล้ว จะได้ว่าส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรธรรมดา และผลตอบแทนคงที่ของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ เท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่ตลาดคาดการณ์ตามช่วงอายุของพันธบัตร ซึ่งในสหรัฐเรียกส่วนต่างนี้ว่า TIPS spread
สมมติตลาดคาดว่าเงินเฟ้อตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้าเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี ถ้าพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมีราคาตลาดเท่ากับมูลค่าหน้าตั๋วคือ 100,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1 ต่อปี และมีอายุไถ่ถอน 10 ปี ขณะที่พันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่มีราคาตลาดเท่ากับมูลค่าหน้าตั๋ว 100,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4 ต่อปี และมีอายุไถ่ถอน 10 ปี ดังนั้น แสดงว่าตลาดคาดว่าเงินเฟ้อตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้าเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่จ่ายผลตอบแทนคงที่เสมอไป จากตัวอย่างข้างต้น หากเงินเฟ้อเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 10 ปีข้างหน้าเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อปี และเราถือพันธบัตรจบครบอายุ จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ไม่ว่าจะถือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หรือพันธบัตรธรรมดาก็ตาม
อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้จะทำให้การถือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้รับผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรธรรมดา เช่น หากเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี จะทำให้ได้รับผลตอบแทนตัวเงินร้อยละ 8 ต่อปีสำหรับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ
ทั้งนี้หากเงินเฟ้อเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นักลงทุนที่ถือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ แต่เนื่องจาก รัฐบาลมีการรับประกันเงินต้นเต็มจำนวน ทำให้หากเงินเฟ้อปรับตัวติดลบในอนาคต ยอดเงินต้นจะไม่ถูกลดค่าลงไป จึงเป็นการรับประกันว่าผลตอบแทนจะไม่มีทางติดลบอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินฝืดร้อยละ 10 จะทำให้พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อให้ผลตอบแทนร้อยละ 0.6 ต่อปี แทนที่จะติดลบร้อยละ 9 ต่อปี เป็นต้น
ดังนั้นข้อควรระวังก่อนลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ นักลงทุนควรต้องคิดก่อนเสมอว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเป็นเท่าไร และเงินเฟ้อที่ตนเองคาดการณ์นั้นมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่
ในวันที่เริ่มขายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หากผลตอบแทนในตลาดจากพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่อายุ 10 ปีเท่ากับร้อยละ 3.7 (ข้อมูล ThaiBMA ณ วันที่ 8 มิ.ย. 2554) และดอกเบี้ยคงที่ของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1 ตามที่ประกาศมากก่อนหน้านี้ แล้วถ้าเกิดเงินเฟ้อในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตคือต่ำกว่าร้อยละ 2.7 แล้ว การซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรที่จ่ายผลตอบแทนคงที่ ถือว่าเป็นการขาดทุนกำไรจากค่าเสียโอกาสสำหรับการซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ
ด้านกระแสเงินสด พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะจ่ายผลตอบแทนดอกเบี้ยในแต่ละปีต่ำ แต่ไปจ่ายมากในส่วนของเงินต้นคืนบวกด้วยส่วนชดเชยเงินเฟ้อในเงินต้น แต่พันธบัตรธรรมดาทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยแต่ละปีจะสูงกว่า ขณะที่ตอนจ่ายเงินต้นคืนจะน้อยกว่าเพราะไม่มีส่วนชดเชยเงินเฟ้อรวมอยู่ด้วย ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดคืนกลับมาเร็วควรลงทุนในพันธบัตรธรรมดาจะเหมาะสมกว่า
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีมุมมองเงินเฟ้อแบบใด พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่มีตลาดรองที่มีสภาพคล่องและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ย่อมสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดเป็นบวก อย่างน้อยก็เท่ากับอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ได้จากพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ออมเงินระยะยาวอย่างแน่นอน