ดัชนีเชื่อมั่น ส.อ.ท. พฤษภาคม กระเตื้อง ผู้ประกอบการกังวลคาดการณ์ 3 เดือนร่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2011 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,101 ตัวอย่าง ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 108.3 จากระดับ 106.6 ในเดือนเมษายน ค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การบริโภคและการใช้จ่ายขยายตัวดี ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งกิจกรรมรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สิ่งพิมพ์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 116.2 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับตัวเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ในระดับคงที่จากเดือนเมษายน โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 110.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (ยอดขายไม้อัดแผ่นบางและไม้อัดแท่งมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวัสดุในการทำป้ายหาเสียง) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (ยอดสั่งทำป้ายพิมพ์โฆษณาในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 115.1 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (มียอดส่งออกไปญี่ปุ่นและจีนลดลง) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์(ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมอาหาร (ยอดส่งออกอาหารสำเร็จรูปไปยุโรปลดลง) และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.7 ลดลงจากระดับ 113.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 112.1 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ และต้นทุนประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (แผ่นเหล็ก โครงสร้างมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการก่อสร้างขยายตัว ยอดส่งออกเหล็กเส้นในประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 114.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 123.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคมพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 106.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ในภาคกลางอุปสงค์ในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น การเลือกตั้งมีส่วนช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากกิจกรรมรณรงค์ของพรรคการเมือง ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่ดี สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (ขวดแก้ว มียอดส่งออกไปประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ยอดขายสินค้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ (ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ) และอุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.5 ปรับลดลงจากระดับ 115.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 115.3 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ในภาคใต้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากรายได้ภาคเกษตรที่เกิดจากผลไม้ตามฤดูกาล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการประมง ส่งผลต่อความต้องการต่อสินค้าและการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและไม้อบ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยอดขายแผ่นยางรมควันและยางแผ่นดิบในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ยอดสั่งซื้อถุงมือยางจากประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.6 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 103.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ในภาคเหนือ ภาคเกษตรอยู่ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก รายได้เกษตรกรลดลงส่งผลให้อุปสงค์ในสินค้าและบริการลดลง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (จังหวัดที่ผลิตสินค้าประเภทเซรามิกประสบภัยน้ำท่วม เช่น ลำปาง ลำพูน สุโขทัย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.2 ปรับลดลงจากระดับ 113.6 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 107.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเกษตรอยู่ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก รายได้เกษตรกรลดลงส่งผลให้อุปสงค์ในสินค้าและบริการลดลง การค้าชายแดนไทย — กัมพูชามีปริมาณการค้าลดลง จากความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศอินเดีย อเมริกา ญี่ปุ่น ลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 119.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี และภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม ทรงตัวจากเดือนก่อนโดยปรับลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 114.4 ปรับตัวลดลง จากระดับ 116.9 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ค่าการกลั่นลดลง) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ยอดขายเม็ดพลาสติกในประเทศและต่างประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.1 ปรับลดลง จากระดับ 121.6 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 107.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน ผ้าทอมือ ดอกไม้ประดิษฐ์และภาชนะเคลือบดินเผาจากประเทศอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ยอดขาย กระเป๋า เข็มขัด รองเท้าในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเปิดเทอม ) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 110.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 115.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 111.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 113.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภท พลอย ทับทิม เครื่องประดับเงิน มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศยุโรป อเมริกา และรัสเซียลดลง) อุตสาหกรรมก๊าซ (ยอดขายก๊าซหุงต้มในครัวเรือนลดลง) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (ขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมเคมี (ยอดขายปุ๋ยเคมีในประเทศและต่างประเทศลดลง เนื่องจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.4 ปรับลดลงจากระดับ 124.9 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี สำหรับด?านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมือง ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรแก้ไขกฏหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งพิจารณาค่าแรงงานให้เหมาะสม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบการ รักษาความมีเสถียรภาพของรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง และควบคุม ดูแล ราคาของพลังงาน เช่น น้ำมัน ,ก๊าซ LPG..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ