สสส.หนุนแก้ปัญหา"ไฟป่า-หมอกควัน"ภาคเหนือ ดึง"ชุมชน-รัฐ"จัดการพื้นที่นิเวศน์ป่าอย่างมีส่วนร่วม

ข่าวทั่วไป Thursday June 16, 2011 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สสส. ราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือ มักจะเป็นข่าวเกิดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี เนื่องจากปัญหาหมอกควันได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ ธุรกิจการท่องเที่ยวทางภาคเหนือต้องหยุดชะงัก และได้พัฒนากลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในเมืองและคนบนดอยอย่างรุนแรง จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดทำ“โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกัน ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก” เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดเป็นนโยบายและแผนงานการจัดการปัญหาไฟป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะ “ไฟป่า” และ “หมอกควัน” เป็นปัญหาที่ซับซ้อนจึงไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหน่วยงาน องค์กร หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่หากจะสำเร็จได้ด้วย “ความร่วมมือร่วมใจ” จากทุกภาคส่วน ในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์และจริงจัง โดยต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาของชุมชนและความรู้ในเชิงวิชาการ เพื่อลดทอนความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการคิดและปฏิบัติแบบแยกส่วน โดยฐานทรัพยากรของรัฐก็จะแยกส่วนเฉพาะป่าหรือต้นไม้ โดยไม่เชื่อมโยงกับระบบการผลิตของชุมชน หรือระบบนิเวศน์ที่รวมถึง ดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ หรือแม้แต่การใช้มาตรการทางกฎหมายของภาครัฐที่ยึดแนวทางเดียว ไม่ผสมผสานระหว่างกฎของชุมชน หรือภูมิปัญญา ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังเพิ่มความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่มากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้ทาง “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จัดทำโครงการ “พัฒนาความร่วมมือการจัดการพื้นที่นิเวศน์ป่าอย่างมีส่วนร่วม” นำร่องดำเนินงานในพื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และ อุทยานแห่งชาติออบหลวง โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาครัฐ ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อขยายผลการทำงานของโครงการดังกล่าวสู่พื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวบุญตา สืบประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกัน ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก มีวัตถุประสงค์เพื่อเครือข่ายความร่วมมือและระบบสนับสนุนการจัดการทรัพยากร รวมถึงการจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบ “โครงการพัฒนาความร่วมมือการจัดการพื้นที่นิเวศน์ป่าอย่างมีส่วนร่วมก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง ในการหนุนเสริมคนที่ทำงานในพื้นที่ทุกฝ่าย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดเครือข่ายในแก้ไขปัญหาไฟป่าหรือการจัดการทรัพยากร โดยทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งระบบนิเวศน์ ไม่ใช่การจัดการเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ไฟป่าไม่เชื่อมต่อกัน เพราะการจัดการระบบนิเวศน์ หรือทรัพยากร รวมถึงการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน จะต้องมีพื้นที่การปฏิบัติงานที่เชื่อมโยง ที่สำคัญก็คือทำอย่างไรที่จะให้หน่วยงานในพื้นที่สนับสนุนชุมชนในการจัดการปัญหา ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การใช้อำนาจรัฐในการตรวจจับ เพราะฉะนั้นระบบการจัดการจะเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันว่าจะให้มีระบบความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากรได้อย่างไร ชาวบ้านก็ทำกินแบบมั่นคง จัดการได้ด้วย ใช้ได้ด้วย เจ้าหน้าทีก็ไม่ต้องระแวงคอยตรวจจับ ทำหน้าที่ของตนเองในด้านอื่นๆได้เต็มที่ เป็นการสลายความขัดแย้งมาแล้วก็ขยายความร่วมมือระหว่างกัน” นางสาวบุญตาระบุ ด้านเครือข่ายภาคประชาชนอย่าง พ่อหลวงเกิด พนากำเนิด ผู้ใหญ่บ้านขุนกลาง ซึ่งเป็นชุมชนชาวเขาเผ่าม้งที่ตั้งอยู่ในใจกลางพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เล่าว่าที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นจากความเข้าใจของภาครัฐกับชุมชนที่ไม่ตรงกัน รัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้าน แล้วก็นำนโยบายหรือกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของชุมชนมาบังคับใช้ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาในชุมชนมักจะมาจากบนสู่ล่างยัดเยียดให้ชาวบ้านทำตาม จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง “ถ้าหน่วยงานของรัฐใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์ก็จะสามารถสร้างให้ชาวบ้านหรือชุมชนเกิดความเข้าใจได้ ที่สำคัญการแก้ปัญหาจะต้องเริ่มจากประชาชน โดยจะต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในชุมชน พูดถึงเหตุและผลให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นมันได้สร้างปัญหาให้แก่เรา ถ้าเราร่วมมือกันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับชุมชน ทุกวันนี้ชาวบ้านก็จะร่วมกันทำแนวกันไฟในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม หรือถ้ามีไฟป่าเกิดขึ้นชาวบ้านก็จะไปร่วมกันดับไฟ อย่างที่หมูบ้านขุนกลางไม่ว่ากลางวันหรือคืนถ้าเห็นเปลวไฟเกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะมีการประกาศเสียงตามสาย ทุกคนก็จะวิ่งไปช่วยกันดับไฟ” พ่อหลวงเกิดกล่าว นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจระหว่างผู้รักษาและผู้ใช้คือชาวบ้านในเรื่องของการทำกินและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน และใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหา “ทั้งกฎหมาย และข้อปฏิบัติต่างๆ เราควรจะใช้สภาพความเป็นจริงและความจริงใจในการช่วยกันแก้ปัญหา คนที่อยู่ในพื้นที่หรืออยู่รอบๆ แนวเขตที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหาร แหล่งต้นน้ำลำธาร ก็ได้ใช้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันรักษา โดยสิ่งที่จะมาช่วยบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายควรที่จะหันหน้าเข้ามาร่วมกัน หาสาเหตุของปัญหา รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ นำมาเป็นข้อปฏิบัติ โดยการใช้ประโยชน์จากป่าจะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอนอินทนนท์ระบุ นายเดโช ไชยทัพ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องของความร่วมมือ โครงการนี้ได้ทำให้หลายๆ ฝ่ายที่ทำงานด้านนี้ได้มาพบเจอกัน เกิดการประสานความร่วมมือกันกันทั้งในแง่ของความคิดและวิธีการปฏิบัติ “การที่จะแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืนนั้น ชุมชนจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน มีการทำแผนร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตควบคู่ไปกับการสำรวจแผนที่ทำกินให้ชัดเจน ก็จะทำให้ปัญหาการเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่าลดลงไป” นายเดโชกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ