กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ป.กก.) เป็นประธานในการประชุมเรื่องแนวทางการเสนอชื่อ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้แต่งเพลงกราวกีฬา เข้าเป็นบุคคลสำคัญของ UNESCO (องค์การความร่วมมือ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ)รวมถึงฟื้นฟูเพลงกราวกีฬา ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในเชิงคุณค่าทางวิชาการ เมื่อวันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
นายสมบัติ เปิดเผยว่า นายสนั่นชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทายาทเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้แต่งเพลงกราวกีฬา พร้อมด้วย ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางพัชนีย์ ยงยอด ผู้อำนวยการกองกลาง กรมพลศึกษา ได้มาหารือเกี่ยวกับการเสนอชื่อ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เข้าเป็นบุคคลสำคัญของ UNESCO (องค์การความร่วมมือ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ) โดยจะเสนอชื่อผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในนามของรัฐบาลไทย เนื่องด้วย “ครูเทพ” หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้มีคุณูปการหลากหลายด้าน ต่อการพลศึกษาและการกีฬาของประเทศไทยบุคคลหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานสำคัญของการพลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เห็นคุณค่าประโยชน์และเห็นถึงความสำคัญของการพลศึกษาและกีฬา รวมถึงเสริมสร้างลักษณะนิสัยความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา จากการประพันธ์ บทเพลงกราวกีฬา เพื่อจูงใจให้นักกีฬารู้จักการรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้จักการให้อภัย ซึ่งได้เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และมีการขับร้องครั้งแรกโดยครูผู้เข้าอบรมพลศึกษา เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๗๗ ที่สนามของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นครูผู้นำกีฬาฟุตบอล เข้ามาสู่ประเทศไทย รวมถึงเป็นนักปฏิวัติการศึกษาคนสำคัญของชาติ ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตย จึงเห็นสมควรที่จะเสนอชื่อ “ครูเทพ” เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ให้เข้าเป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งขององค์การ UNESCO ซึ่งจะต้องดูหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเสนอชื่อต่อไป
ในส่วนของแนวคิดที่ตนต้องการที่จะฟื้นฟูเพลงกราวกีฬาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นนั้น ตนได้มอบหมายให้กรมพลศึกษา เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีความคิดที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดเสวนาโดยเชิญบุคคลสำคัญของวงการกีฬา รวมถึงสื่อมวลชน เสวนาถึงแนวทางในการทำให้เพลงกราวกีฬา เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แทรกซึมเข้าไปอยู่ในจิตใจของนักกีฬา รวมถึงเยาวชนไทยทุกคนด้วย จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เพื่อเชิดชูเกียรติ และรวบรวมประวัติ รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีคุณูปการทางด้านการกีฬา ในทุกวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นสันคล้ายวันถึงแก่อสัญกรรมของท่าน ภายใต้ชื่อ “รางวัลเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี”
ป.กก.กล่าวทิ้งท้ายว่า ถือเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบ เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้วางรากฐานด้านกีฬาที่สำคัญยิ่งบุคคลหนึ่งของประเทศ จะเห็นได้ว่า ครูเทพ หรือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีผู้ประพันธ์เพลงนี้นั้น เป็นผู้มีความรู้และนำเอาเนื้อหา รวมถึงความมีน้ำใจนักกีฬา สอดแทรกเข้าไปอยู่ในเพลงได้อย่างลงตัว เป็นเพลงที่มีความหมายดี คลอบคลุม สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาในการสร้างการพลศึกษาและการกีฬาของไทย อาจกล่าวได้ว่าหาก นักกีฬาทำตามแบบอย่างตามความหมายในเพลงกราวกีฬาได้แล้ว นักกีฬาผู้นั้นจะเป็นนักกีฬาที่ดีและเปี่ยมไปด้วยความมีน้ำใจนักกีฬา จึงเห็นควรที่จะเสนอชื่อ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ให้เข้าเป็นบุคคลสำคัญขององค์การ UNESCO ต่อไป อีกทั้งเยาวชนและประชาชนชาวไทยจะได้ถือเป็นแบบอย่างที่ดี และขยายชื่อเสียงประเทศไทยไปทั่วโลกด้วย