ศ.ศ.ป. จับมือสมาคมหัตถกรรมอาเซียน จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ตและยูโร-เอเชีย เน็ตเวิร์ค

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--เบรนเอเซีย
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศจับมือสมาคมหัตถกรรมอาเซียน จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ตและยูโร-เอเชีย เน็ตเวิร์ค (Workshop on CraftsNet Project Results and Formation of Euro-Asia CraftsNet Network) พร้อมเซ็นสัญญากับคราฟส์เน็ต ให้ ศ.ศ.ป.บริหารฐานข้อมูลระหว่าง 11 ประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ร่วมกับสมาคมหัตถกรรมอาเซียน เป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทย จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งที่ 4 สรุปผลโครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ตที่ได้ดำเนินมา 18 เดือนและก่อตั้งเน็ตเวิร์คความร่วมมือศิลปหัตถกรรมระหว่างภาคพื้นยุโรปและเอเซีย (Workshop on CraftsNet Project Results and Formation of Euro-Asia CraftsNet Network) โดยมี 11 ประเทศเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 — 4 สิงหาคม 2550 เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปหัตถกรรมอย่างยั่งยืนระหว่างองค์กรด้านหัตถกรรม, การเชื่อมโยงความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ และสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม พร้อมเซ็นสัญญาจัดตั้งเครือข่ายหัตถกรรม (CraftsNet Network) ขึ้นในประเทศไทย ประสานงานเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศผ่านเครือข่ายหัตถกรรมของกลุ่มอาเซียนและยุโรป ผ่านเว็บไซต์ www.craftsnet.org
สำหรับที่มาของโครงการเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet และการจัดประชุม 11 ประเทศในกรุงเทพ ฯ ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet ของสมาคมหัตถกรรมอาเซียน กล่าวว่า “ โครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ต (CraftsNet Project) คือ โครงการสร้างเสริมสมรรถนะเครือข่ายองค์กรกลางที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการและช่างฝีมือด้านหัตถกรรมในเอเซียและยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Asia Invest ของสหภาพยุโรปหรืออียู ทั้งนี้เนื่องด้วยเห็นว่าภาคหัตถกรรมถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการจ้างงานในชุมชน สร้างรายได้ให้ประชากรในพื้นที่และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น อันเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจหลัก ตลอดจนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์หัตถกรรม โครงการคราฟส์เน็ต ก่อตั้งโดย 5 องค์กร ได้แก่ 1. สมาคมหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA หรือ ASEAN Handicraft Promotion and Development Association) ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการ ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีมวลสมาชิก 7 ประเทศ, 2. EGNATIA EPIRUS Foundation ประเทศกรีซ 3. Handworkskammern Rheinland-Pfalz (HWK) ประเทศเยอรมัน 4.สภาหัตถกรรมแห่งชาติบังกลาเทศ (NCCB-National Crafts Council of Bangladesh) 5. สภาหัตถกรรมแห่งชาติศรีลังกา (NCHSL-National Chamber of Handicrafts of Sri Lanka) โครงการคราฟส์เน็ตได้กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน โดยมีกิจกรรมหลักของโครงการ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ (Workshop) ต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 โดยกำหนดหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายหัตถกรรม การแลกเปลี่ยนบุคลากรในการศึกษาดูงานและการสร้างระบบเครือข่ายสารสนเทศ (IT Platform) เพื่อให้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีผลทำให้เครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet มีสมาชิกรวม 11 ประเทศ คือ กรีซ, เยอรมัน, บังกลาเทศ, ศรีลังกา และประเทศกลุ่มอาเซียน 7 ประเทศ “
พลโท เธียรศักดิ์ พะลายานนท์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์การส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) กล่าวว่า “ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT--The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ก่อตั้งในปี 2546 โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ศ.ป. มีพันธกิจหลักในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการผลิตและการตลาดในระดับชาติและระดับสากลเพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 45 ไร่ ณ ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร ติดกับพื้นที่ของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศ.ศ.ป. มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการบริหารจัดการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน, พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านทั้งในด้านคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์, ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดและการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ, ส่งเสริมความเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างอุตสาหกรรมการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตลอดจนผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น,พัฒนาฝึกอบรมช่างฝีมือผู้ประกอบการและเครือข่ายหัตถกรรมในด้านการบริหารจัดการผลิตและการบริหารงานบุคคล การเงิน และการตลาด,ดำเนินการสนับสนุนด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ซึ่งเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างอุตสาหกรรมการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้สามารถพัฒนายกระดับช่างฝีมือและผู้ประกอบการระดับชุมชนและระดับประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความสามารถในการสร้างโอกาสทางการตลาดระหว่างประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ร่วมกับสมาคมหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA) ในนามประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติสรุปผลโครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ต (CraftsNet) และการก่อตั้งยูโร-เอเซีย คราฟส์เน็ต เน็ตเวิร์ค ระหว่างภาคพื้นยุโรปและเอเซีย (Euro-Asia CraftsNet Network) โดยมี 11 ประเทศสมาชิกเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet มาร่วมประชุมระหว่างวันที่ 1 — 4 สิงหาคม ในกรุงเทพ ฯ โดยพิธีเปิดมี ฯพณฯ ท่านองคมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและบุคคลสำคัญในวงการหัตถกรรม ได้แก่ ดร.เฟรเดอริก ฮัมเบอร์เกอร์ เอกอัครราชทูต-หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป, นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมหัตถกรรมอาเซียน ASEAN Handicraft Promotion and Development Association (AHPADA), คุณคลาร่า พูเอช (Clara Puech) ผู้แทนจาก EGNATIA EPIRUS Foundation ประเทศกรีซ การที่ ศ.ศ.ป. ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับเครือข่ายคราฟส์เน็ต (CraftsNet) ให้ ศ.ศ.ป. เป็นศูนย์กลางประสานงานบริหารข้อมูลระหว่าง 11 ประเทศสมาชิก ผ่านทาง www.craftsnet.org เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งขององค์กรกลางและเครือข่ายองค์กรศิลปหัตถกรรมในกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มยุโรปให้ก้าวหน้ายั่งยืนต่อไป
ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ เพราะมีศิลปหัตถกรรม ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ท้องถิ่น เป็นวิถีชีวิตที่เติบโตมากับงานหัตถกรรม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมที่ได้รับความสนใจจากทั้งยุโรปและเอเชีย โดยทางยุโรปก็จะให้ความสนใจในภูมิปัญญาของชาวเอเชีย ขณะเดียวกันชาวเอเซียก็สนใจที่จะเรียนรู้เทคนิคและรูปแบบดีไซน์จากทางยุโรป ทำให้เกิดกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบความสัมพันธ์ในเอเชียและยุโรป ซึ่งโครงการเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet ถือเป็นแม่แบบของการร่วมมือระหว่างประเทศและมีส่วนช่วยให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาศิลปหัตถกรรมไทยและเสริมสร้างโอกาสทางการตลาด หัตถกรรมไทยที่ ศ.ศ.ป. ส่งเสริมมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผ้า, เครื่องจักสาน, เครื่องประดับทองและเงิน, ผลิตภัณฑ์เซรามิก หากผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีภาพลักษณ์ที่ดี ศิลปหัตถกรรมไทยก็สามารถสร้างรายได้และเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจการท่องเที่ยว ตลอดจนเสริมสร้างชื่อเสียงของประเทศไทย ”
นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมหัตถกรรมอาเซียน ASEAN Handicraft Promotion and Development Association (AHPADA) กล่าวว่า “ การจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติโครงการเครือข่ายหัตถกรรมคราฟส์เน็ตในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งที่ 1 ได้จัดประชุมเวิร์คช้อปที่ประเทศศรีลังกา ในหัวข้อ “หัตถกรรมและเทคโนโลยีใหม่”, ครั้งที่ 2 จัดประชุมที่ประเทศเยอรมัน ในหัวข้อ “หัตถกรรมและการท่องเที่ยว”, ครั้งที่ 3 จัดประชุมที่ประเทศบังกลาเทศ ในหัวข้อ “การตลาดและการส่งเสริมงานหัตถกรรมในยุโรปและเอเชีย” หัวข้อสำหรับการประชุมครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดการด้านการตลาดในระยะยาว, การทำตลาดสินค้าหัตถกรรมของเอเชีย, ผลสรุปการสำรวจความต้องการของผู้ใช้, การพัฒนาศิลปหัตถกรรมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ของที่ระลึก และอื่น ๆ, คู่มือการเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายหัตถกรรม, แนวทางแผนปฏิบัติการในการติดต่อการค้าศิลปหัตถกรรมระหว่างภาคพื้นยุโรปและเอเซีย, ความคืบหน้าของเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet กับ IT Platform โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการเครือข่ายหัตถกรรม CraftsNet ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางการร่วมมือเครือข่ายหัตถกรรมให้ก้าวหน้ายั่งยืนต่อไป โดยใช้ IT Platform หรือเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการสื่อสาร, ค้นคว้า, การผลิตและออกแบบงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบของระบบ IT ผ่านอินเตอร์เน็ต Platform เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมให้สามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในงานหัตถกรรมได้ ในด้านการจัดการด้านการตลาดในระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตงานด้านหัตถกรรมเนื่องจากงานศิลปหัตถกรรมเป็นงานที่ใช้ความประณีต พิถีพิถัน และเน้นคุณภาพของงานในการสร้างสรรค์ผลงาน อัตราการเติบโตจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ดังนั้นหากมีการนำ IT Platform มาใช้ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านศิลปหัตถกรรมได้ง่ายและมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มหัตถกรรม
นอกจากนี้ล่าสุดทางโครงการ ได้จัดทำคู่มือการเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายหัตถกรรมขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลงานด้านศิลปหัตถกรรม โดยเน้นสาระสำคัญคือ การพัฒนาผลผลิต, การสร้างเครือข่าย (Network), การตลาด และการจัดการ การบริหารองค์กร ”
ข้อมูลรายละเอียด
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.)
www.sacict.net โทร. 035-367-054
โครงการคราฟส์เน็ต
www.craftsnet.org
สมาคมหัตถกรรมอาเซียน
www.ahpada.com
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
รัตติยา โทร. 086-973-9863
อภิสรา โทร. 081-422-2178
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ